วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

แขวนกางเขน ในห้องเรียนได้
                                               
         สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2009  ศาลยุโรปแผนกสิทธิมนุษยชนที่เมือง สตร้าสบูรก์ตัดสินห้ามแขวนเครื่องหมายกางเขนในห้องเรียนในประเทศอิตาลี และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5000 ยูโรแก่นาง Soile Lautsi ผู้ร้องเรียนชาว      อิตาเลียน ที่แจ้งว่าห้องเรียนของลูกชายและของลูกสาวมีกางเขนแขวนอยู่ที่ผนังซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อการอบรมลูกๆ ของเธอ  เธอยื่นฟ้องต่อศาลปกครองตั้งแต่ปี 2000 และแพ้คดีในทุกศาล  โดยศาลปกครองตัดสินว่ากางเขนมิได้เป็นเพียงเครื่องหมายทางศาสนาเท่านั้น  แต่ยังเป็น ธงชัย ของพระศาสนจักรและเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของรัฐบาลอิตาลี แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้และเดินเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในปี 2004 ศาลฯ ไม่รับฟ้องโดยอ้างว่าเรื่องนี้มิใช่เรื่องการบัญญัติกฎหมาย   ที่สุดเธอได้ฟ้องต่อศาลยุโรปแผนกสิทธิมนุษยชนในปี 2006   ต้นเดือนพฤศจิกายน 2009 คณะผู้พิพากษา 7 ท่านมีคำพิพากษาเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อมาตรา 2 ของสนธิสัญญาฉบับที่ 1  และมาตรา 9 ของสภายุโรป และห้ามการแขวนสัญลักษณ์ของความเชื่อทางศาสนาใดๆ ในที่สาธารณะโดยเฉพาะในห้องเรียนเพราะเป็นการจำกัดสิทธิการอบรมลูกๆ ของตนตามความเชื่อของพวกเขา   
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2011  ศาลสูง (Grand Chamber) ยุโรปแผนกสิทธิมนุษยชนได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (Lower Chamber) โดยศาล 17 ท่านลงคะแนน 15 ต่อ 2 ไม่ถือว่าการแขวนเครื่องหมายกางเขนในห้องเรียนขัดต่อมาตรา 2 ของสนธิสัญญาฉบับที่ 1  และถือเป็นเด็ดขาดไม่อาจอุทธรณ์ได้อีกตามกระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมของยุโรป  ทั้งนี้เพราะคณะผู้พิพากษาไม่พบว่าครูที่โรงเรียนมีพฤติกรรมคุกคามต่อผู้นับถือศาสนาอื่น อีกทั้งผู้เป็นมารดาก็มิได้กล่าวหาเลยว่า โรงเรียนมีความพยายามใดๆ ในการสอนคริสต์ศาสนาแก่บุตรของตน  กางเขนเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาก็จริง แต่ก็มิได้มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่ากางเขนบนผนังห้องเรียนมีผลต่อความเชื่อของนักเรียน
สภาพระสังฆราชยุโรปกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กางเขนยังคงมีความสำคัญต่อชาวยุโรปเพราะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการถูกตรึงกางเขนและการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า คริสตชนทุกนิกายยอมรับว่ากางเขนคือสัญลักษณ์ของความรักอย่างลึกซึ้งของพระที่มีต่อมวลมนุษย์ และเป็นเครื่องหมายของการไม่ใช้ความรุนแรงและการให้อภัยต่อกัน การแสดงเครื่องหมายกางเขนในที่สาธารณะจึงเป็นเครื่องเตือนใจให้มนุษย์ทุกคนคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิเบื้องต้นทั้งหลายที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและให้ความเคารพต่อกัน
พระคาร์ดินัลปีเตอร์ แอร์โด (Peter Erdo) ประธานสภาพระสังฆราชยุโรป แสดงความยินดีต่อผลของการตัดสินโดยกล่าวว่า นี่คือการบันทึกอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์  เป็นความหวังใหม่มิใช่แต่สำหรับคริสตชนเท่านั้น แต่สำหรับชาวยุโรปทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อหรือไม่ก็ตาม พวกเขารู้สึกขุ่นเคืองต่อคำตัดสินเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2009  เพราะการถือว่าเครื่องหมายกางเขนในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธรากเหง้าของความเป็นยุโรป  เนื่องจากหากปราศจากกางเขนแล้วไซร้  เราก็คงไม่มียุโรปที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น