วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2011

อาทิตย์ที่ 21  เทศกาลธรรมดา
 ( วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2011 )
รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 16:13-20
(13)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปและตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร  (14)เขาทูลตอบว่า บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง   (15)พระองค์ตรัสกับเขาว่า ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร  (16)ซีโมน เปโตรทูลตอบว่า  พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต  (17)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย  (18)เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ (19) เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย (20) แล้วพระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้บอกใครว่าพระองค์คือพระคริสตเจ้า
1. ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร
เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปเดิมชื่อปานีอาส (Panias) อยู่ห่างจากทะเลสาบ กาลิลีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร พ้นเขตปกครองของกษัตริย์เฮโรด อันติพาส  ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวยิว พระเยซูเจ้าจึงไม่ถูกประชาชนรุมล้อมและทรงมีเวลาอยู่กับบรรดาอัครสาวกตามลำพัง
ที่เมืองปานีอาส เฮโรดมหาราช (ผู้เป็นพ่อ) ได้สร้างวิหารใหญ่ ทำด้วยหินอ่อนสีขาว เพื่อถวายแด่ซีซาร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโรม  ต่อมาฟิลิปบุตรชายได้ต่อเติมและประดับประดาวิหารนี้ให้สวยตระการตายิ่งขึ้นไปอีก แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองปานีอาสเป็นซีซารียาซึ่งแปลว่าเมืองของซีซาร์ และเพิ่มชื่อของตนคือ ฟิลิปต่อท้ายเข้าไปด้วย เพื่อให้แตกต่างจากเมืองซีซารียาอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ณ เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปซึ่งมีวิหารสวยตระการตาถวายแด่ซีซาร์ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้านี้เอง ที่ช่างไม้ชาวกาลิลีผู้ไร้บ้าน ไร้เงินทอง ไร้อนาคตเพราะถูกกล่าวหาว่าสอนผิดความเชื่อจนต้องนับเวลาถอยหลังรอความตาย กำลังตั้งคำถามศิษย์ของตนว่า คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร (มธ 16:13)
ถ้าไม่ใช่พระเจ้าจริง พระองค์คงไม่กล้าตั้งคำถามแบบนี้ที่นี่แน่ !
คำตอบที่ได้คือ บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง (มธ 16:14)
    ยอห์นคือประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นจนเฮโรด อันติพาสซึ่งสั่งให้ตัดศีรษะของท่านยังหวาดระแวงว่าพระเยซูเจ้าอาจเป็น ยอห์นผู้ทำพิธีล้างที่กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย เขาจึงมีอำนาจทำอัศจรรย์ได้ (มธ 14:2)
บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์(มธ 16:14)
ชาวยิวถือว่าเอลียาห์คือประกาศกยิ่งใหญ่ที่สุด  ท่านจะกลับมาเพื่อเตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ (มลค 4:5)  ทุกวันนี้ ขณะกินเลี้ยงปัสกาชาวยิวยังเตรียมเก้าอี้ว่างไว้สำหรับท่าน โดยหวังว่าท่านยิ่งกลับมาเร็วเท่าใด พระเมสสิยาห์ยิ่งเสด็จมาเร็วเท่านั้น
บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์(มธ 16:14)
ชาวยิวเชื่อกันว่าก่อนบรรพบุรุษของพวกตนจะถูกกวาดต้อนไปกรุง  บาบิโลน เยเรมีย์ได้นำหีบพันธสัญญาและแท่นกำยานออกจากพระวิหารไปซ่อนไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งแถบภูเขาเนโบ และจะนำกลับมาประดิษฐานไว้ก่อนพระเมสสิยาห์เสด็จมา เพื่อให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้ากลับมาอยู่ท่ามกลางประชากรอีกครั้งหนึ่ง (2 มคบ 2:1-12)
เมื่อประชาชนคิดว่าพระเยซูเจ้าคือยอห์นผู้ทำพิธีล้าง หรือประกาศก   เอลียาห์ หรือประกาศกเยเรมีย์ จึงเท่ากับว่า พวกเขายกพระองค์ไว้ ณ จุดสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ เพราะท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ผู้เป็นบุตรของพระเจ้า
ทว่าสิ่งที่คนอื่นพูดถึงพระองค์มีหรือจะสำคัญเทียบเท่าความเชื่อของตนเอง พระองค์จึงตรัสถามบรรดาอัครสาวกว่า ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร(มธ 16:15)
เปโตรทูลตอบว่า พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต(มธ 16:16)
คำตอบของเปโตรคงช่วยให้พระเยซูเจ้าใจชื้นขึ้นเป็นกอง เพราะอย่างน้อยก็ยังมีคนหนึ่งที่รับรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นใครและทรงเป็นอะไร
คำว่า พระคริสตเจ้า เป็นภาษากรีก  ส่วน พระเมสสิยาห์ เป็นภาษาฮีบรู  ทั้งสองคำมีความหมายเดียวกันคือ ผู้ที่ได้รับการเจิม
เพราะฉะนั้น หากจะถามว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร คำตอบแบบเปโตรก็คือ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต  และถ้าจะถามว่าพระองค์เป็นอะไร คำตอบก็คือ ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ให้เป็นกษัตริย์ เพื่อกอบกู้มวลมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ
จากเหตุการณ์ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เราอาจสรุปแนวทางดำเนินชีวิตได้สองประการ
1.   แม้เราจะยกพระเยซูเจ้าไว้สูงสุดจนเทียบชั้นกับประกาศกเอลียาห์และเยเรมีย์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการรู้จักพระองค์
    สมดังคำพูดของจักรพรรดินโปเลียนที่ว่า ข้าพเจ้ารู้จักมนุษย์มากมายหลายคน แต่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นมากกว่ามนุษย์
    ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย (มธ 16:17)
    พูดง่ายๆ คือ เป็นพระบิดาที่ทรงเปิดเผยให้เปโตรรู้จักพระเยซูเจ้า
    ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นวอนขอพระบิดาเจ้า โปรดให้เรารู้จักพระเยซูเจ้ามากขึ้น จะได้รักและดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระองค์มากขึ้น
2.   ไม่เป็นการเพียงพอที่จะรู้จักพระเยซูเจ้าโดยอาศัยคำบอกเล่าของผู้อื่น  เราต้องค้นให้พบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง
    หากพระองค์ตรัสถามเราว่า ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร เราต้องตอบด้วยตัวของเราเองให้ได้ไม่ว่าเราจะเป็นใครหรือยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม
    ไม่เว้นแม้แต่ปิลาตซึ่งถามพระองค์ว่า ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ ก็ยังต้องกลับไปค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพราะพระองค์ทรงย้อนว่า ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา (ยน 18:33-34)
    เราอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ หรือเทววิทยา หรือคำสอน  แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถค้นพบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง ตราบนั้นความรู้ที่ร่ำเรียนมาย่อมเป็นเพียงความรู้มือสองที่ช่วยให้เรา รู้เกี่ยวกับ   พระเยซูเจ้า...
    แต่ยังไม่ รู้จัก พระองค์ !
2. ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา
คำที่ใช้ในต้นฉบับภาษากรีกคือ ท่านคือ เปตรอสและบนเปตรานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา (มธ 16:18)
คำกรีก เปตรอส (Petros) คือ เปโตร เป็นชื่อเฉพาะ ไม่มีคำแปลอื่น  ส่วน เปตรา (petra) แปลว่า ศิลา
เพราะฉะนั้นหากแปลตามต้นฉบับย่อมได้ความว่า ท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา
    ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชาวยิวซึ่งถือว่า ศิลา คือองค์พระเป็นเจ้าเอง
-  พระองค์ทรงเป็นศิลา พระราชกิจของพระองค์ก็ดีพร้อม (ฉธบ 32:4)
-  “บรรดาศัตรูน่าจะเข้าใจว่า พระผู้ปกป้องเขาไม่เหมือนเรา ซึ่งเป็นศิลาแห่งอิสราเอล” (ฉธบ 32:31)
    -  ไม่มีผู้ใดศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระยาห์เวห์ ไม่มีศิลาใดเหมือนพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย (1 ซมอ 2:2)
    -  ใครเล่าเป็นพระเจ้านอกจากพระยาห์เวห์ ใครเล่าเป็นหลักศิลาถ้าไม่ใช่พระเจ้าของเรา (สดด 18:2, 31)
    ส่วนในพระธรรมใหม่ ศิลา คือองค์พระเยซูเจ้าเอง
    -  บรรดาอัครสาวกและประกาศกเป็นรากฐาน มีพระคริสตเยซูทรงเป็นศิลาหัวมุม (อฟ 2:20)
    - รากฐานที่วางไว้แล้วนี้คือพระเยซูคริสตเจ้าและไม่มีใครวางรากฐานอื่นได้อีก (1 คร 3:11)
    - จงเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นศิลาทรงชีวิตซึ่งมนุษย์ละทิ้งไป แต่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้และมีค่าประเสริฐ .... ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า เราเลือกศิลาประเสริฐและวางไว้ในนครศิโยนเป็นศิลาหัวมุม ทุกคนที่มีความเชื่อในศิลานี้จะไม่ต้องอับอายเลย’” (1 ปต 2:4,6)
จากพระคัมภีร์ที่ยกมาแสดงว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น ศิลาหัวมุม และทรงเป็นรากฐานแท้จริงของพระศาสนจักร  หากปราศจากพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่อาจตั้งอยู่ได้
แต่ด้วยเจตนาเล่นคำ ชื่อของ เปโตร ในภาษากรีกจึงถูกแปลตามชื่อในภาษาอาราไมอิก เคฟาส (Kephas) ซึ่งบังเอิญหมายถึง ศิลา  เราจึงได้สำนวนแปลว่า ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา (มธ 16:18)
ใช่ เปโตรคือ ศิลา แต่ไม่ใช่ ศิลาหัวมุม
ท่านคือ ศิลาแรก ของพระศาสนจักรซึ่งพระองค์กำลังสถาปนาขึ้น เพราะว่าท่านเป็น มนุษย์คนแรก ที่รู้และเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า บุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต (มธ 16:16)
ด้วยเหตุที่เปโตรเป็นสมาชิกคนแรกของพระศาสนจักร  ท่านจึงเป็นรากฐานและเป็นเสมือนเชื้อแป้งที่ทำให้มีสมาชิกคนอื่นตามมาอีกมากมายทุกยุคทุกสมัย
ส่วนผู้ก่อตั้งและเป็น ศิลาหัวมุม ของพระศาสนจักรคือองค์พระเยซู คริสตเจ้าเอง !
เพราะฉะนั้น หากเรารักนักบุญเปโตรผู้เป็นศิลาแรกมากเท่าใด เรายิ่งต้องรักพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นศิลาหัวมุมมากขึ้นเท่านั้น
3. ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้
เราอาจเข้าใจความหมายของ ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ (มธ 16:18) ได้ดังนี้
    ประตู มีไว้เพื่อ ปิด ควบคุม กักขัง จำกัดเขต
    นรก ตรงกับภาษากรีก “ades” (อาเดส) และภาษาอังกฤษ “Hades”   (เฮดีส) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรคือ สถานที่ที่มองไม่เห็น   เดิมชาวยิวเชื่อว่าคนตายทุกคนไม่ว่าดีหรือเลวจะไปรวมกันอยู่ในสถานที่ที่มองไม่เห็นนี้ คำ เฮดีส แรกเริ่มจึงหมายถึงแดนผู้ตาย แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสถานที่สำหรับคนบาปพักรอการตัดสิน และหมายถึงนรกในที่สุด
    เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ จึงหมายความว่า ประตูแห่งแดนผู้ตายไม่มีทางปิดขังคนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรได้เลย
    เพราะคนคนนั้น คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต (มธ 16:16)
    พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้ก็เพื่อทำนายถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เอง ซึ่งเปโตรได้ประกาศยืนยันความจริงนี้ในวัน  เปนเตกอสเตว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ พ้นจากอำนาจแห่งความตาย เพราะความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้ และอีกตอนหนึ่งว่า เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้า (คือพระเยซูเจ้า) ไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย (กจ 2:24, 27)
นอกจากเป็นการทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เราอาจเข้าใจความหมายอีกนัยหนึ่งว่า ประตูนรกคืออำนาจแห่งความชั่วร้าย ซึ่งไม่มีทางจะเอาชนะหรือทำลายพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าได้เลย
4. สิทธิและหน้าที่ของพระศาสนจักร
เพื่อให้พระศาสนจักรบนความเชื่อของเปโตรมีความมั่นคง พระเยซูเจ้าทรงมอบสิทธิและหน้าที่พิเศษให้แก่ท่านด้วย
1.   เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ (มธ 16:19)
ในพระธรรมใหม่ ผู้ถือกุญแจคือพระเยซูเจ้าเอง เราเป็นผู้มีชีวิต เราตายไปแล้ว แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร เรามีอำนาจ (ต้นฉบับภาษากรีกคือ kleis แปลว่า กุญแจ) เหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย (วว 1:18)
และ พระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงสัตย์ ผู้ทรงถือกุญแจของกษัตริย์ดาวิด เมื่อพระองค์ทรงเปิด ไม่มีผู้ใดปิดได้ และเมื่อพระองค์ทรงปิด ก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้ (วว 3:7)
ข้อความหลังนี้ช่างคล้ายกับพระวาจาของพระเจ้าที่มีถึงเอลียาคิมผ่านทางประกาศกอิสยาห์ว่า เราจะวางลูกกุญแจของวังดาวิดไว้บนบ่าของเขา เขาจะเปิดและไม่มีผู้ใดปิด เขาจะปิดและไม่มีผู้ใดเปิด (อสย 22:22) นั่นคือ พระองค์ทรงตั้งเอลียาคิมให้เป็นผู้จัดการราชสำนักของดาวิดแทนเชบนา มีอำนาจเต็มในการสั่งเปิดประตูพระราชวังในยามเช้า และปิดในยามเย็น
หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์แก่เปโตร เพื่อให้ท่านเป็นผู้ดูแลอาณาจักรสวรรค์และ เปิดประตูต้อนรับคนทุกชาติ ทั้งที่เป็นยิวและไม่ใช่ยิว
        ดังที่ท่านได้เปิดประตูต้อนรับดวงวิญญาณสามพันดวงในวันเปนเต-กอสเต (กจ 2:41) รวมถึงดวงวิญญาณของโครเนลิอัสซึ่งเป็นนายทหารต่างชาติ (กจ 10) อีกทั้งในการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านได้ผลักดันให้ข่าวดีเผยแผ่ไปสู่คนต่างศาสนาด้วยการยืนยันว่า เพื่อให้มนุษย์อื่นๆ แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าพร้อมกับนานาชาติ (กจ 15:17)
2.   ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย (มธ 16:19)
คำว่า ผูก และ แก้ เป็นสำนวนที่ชาวยิวนิยมใช้กับคำตัดสินด้านกฎหมายของอาจารย์หรือรับบีผู้มีชื่อเสียง  ผูกหมายถึงไม่อนุญาต และแก้หมายถึงอนุญาต
เท่ากับว่าพระเยซูเจ้าทรงมอบภาระรับผิดชอบอันหนักหน่วงไว้บนบ่าของเปโตร ท่านต้องให้คำแนะนำและนำพาพระศาสนจักร  ท่านต้อง ตัดสินใจ ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งการตัดสินใจของท่านย่อมส่งผลอันใหญ่หลวงต่อวิญญาณของมนุษย์ทั้งในโลกนี้และชั่วนิรันดร
และนี่คือความยิ่งใหญ่ของเปโตร  เพราะท่านคือผู้สืบสานภารกิจของพระคริสตเจ้า บุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต
               
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.  ซิสเตอร์ คอร่า (Cora) จากคณะธิดานักบุญเปาโล (Paoline) จะมาขายหนังสือบำรุงศรัทธาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้ง CD, DVD หนังและเพลง ที่วัดเซนต์จอห์น วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 6.30-12.00 น.
2.   คณะนักบวชคามิลเลียนชาย โดยคุณพ่อปิยะศักดิ์ และคณะ จะมาพูดแนะนำกระแสเรียกของคณะสำหรับเยาวชนชาย หรือพ่อแม่ที่สนใจ หลังมิสซาวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2554 เวลาประมาณ 10.30 น. ณ ห้องประชุมบ้านพักพระสงฆ์
3.  คุณพ่อใหม่ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะมาถวายมิสซาแรกที่วัดเซนต์จอห์น ในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2554  เวลา 9.00 น.
1. คุณพ่อยอแซฟ เชษฐ์ดนัย ไชยเผือก
2. คุณพ่อเปโตร บุญชรัสมิ์ สุขสว่าง
3. คุณพ่อมีคาแอล นัฎฐวี กังก๋ง 
ขอเชิญพี่น้องร่วมโมทนาคุณพระกับพระสงฆ์ใหม่ และรับพรพระสงฆ์ใหม่ ตามวันเวลาดังกล่าว
4.  เชิญเข้าเงียบ...รับพระพร สร้างแรงบันดาลใจ ค้นหาแนวทางใหม่ ใน  วิถีชุมชนวัด เพื่อเตรียมเข้าสู่ กลุ่มชีวิตคริสตชนพื้นฐาน วันเสาร์ที่ 27 ส.ค. 2011 เวลา 9.00-15.00 น. ณ วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ คลองจั่น  มีพิธีโปรดศีลอภัยบาป และบาปสงวน
5.  ติดตามผล การสัมมนาชีวิตคริสตชน  สำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมอบรม ในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2011 เวลา 13.00 น. ณ วัดเซนต์จอห์น
6.   โบว์ลิ่งการกุศล ครั้งที่ 6  รวมพลัง ปันน้ำใจ ให้ครอบครัว จัดโดย แผนกส่งเสริมชีวิตครอบครัว อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2011 เวลา 09.30-14.00 น. ค่าสมัครทีมละ 3,000 บาท  ติดต่อได้ที่ คุณสุทัศน์ มาลานิยม โทร.089-784-8803, คุณอนุรักษ์-คุณดารารัตน์ มีนนานนท์ โทร.081-407-4536

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2011

สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ

 ( วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2011 )


รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   ลูกา 1:39-56
       (39)หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย  (40)พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และทรงทักทายนาง เอลีซาเบธ  (41)เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น  นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม  (42)ร้องเสียงดังว่า เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใดๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย  (43)ทำไมหนอพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า จึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า  (44)เมื่อฉันได้ยินคำทักทายของเธอ ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี  (45)เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง
(46)พระนางมารีย์ ตรัสว่า วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า (47)จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้า (48)เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข (49)พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ (50)พระกรุณาต่อผู้ยำเกรงพระองค์แผ่ไปตลอดทุกยุคทุกสมัย (51)พระองค์ทรงยกพระกรแสดงพระอานุภาพ ทรงขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป (52)ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์ และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น (53)พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า (54)พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอล ผู้รับใช้พระองค์ โดยทรงระลึกถึงพระกรุณา (55)ดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเรา แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป
(56)พระนางมารีย์ประทับอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือนจึงเสด็จกลับ

เมื่อนางเอลีซาเบธตั้งครรภ์ได้หกเดือน พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ว่าจะทรงตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายชื่อว่าเยซู (ลก 1:31)
แต่เพราะพระนางมารีย์ทรงเป็นหญิงพรหมจารี จึงถามทูตสวรรค์ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ? (ลก 1:34)
ทูตสวรรค์อธิบายว่าพระแม่จะตั้งครรภ์ด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า และบุตรที่เกิดมาจะเป็นบุตรของพระเจ้า  พร้อมกันนั้นได้ยืนยันว่านางเอลีซาเบธ ทั้งๆ ที่ชราและเป็นหมัน ยังตั้งครรภ์ได้ตั้งหกเดือนแล้ว (ลก 1:35-36)
ครั้นทราบว่านางเอลีซาเบธตั้งครรภ์ พระแม่มารีย์จึงรีบออกเดินทางจากเมือง  นาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี มาเยี่ยมนางเอลีซาเบธซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองเฮโบรน (เทียบ ยชว 21:11) ในแคว้นยูเดียทางใต้
       เมื่อพระแม่เข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และกล่าวทักทายนางเอลีซาเบธ นาง    เอลีซาเบธ ซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ร้องเสียงดังว่า เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใดๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย  ทำไมหนอพระมารดาขององค์         พระผู้เป็นเจ้า จึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า (ลก 1:42)
       สิ่งที่น่าสังเกตคือ ไม่มีข้อความใดเลยในพระคัมภีร์ที่บ่งบอกว่านางเอลีซาเบธรู้เรื่องการตั้งครรภ์ของพระแม่  แล้วนางรู้ได้อย่างไรว่า พระแม่กำลังจะเป็นพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าหากพระจิตเจ้าไม่ทรงไขแสดงแก่นาง ?!
       เท่ากับว่า นี่เป็นงานของพระจิตเจ้าล้วนๆ !
       นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ของนางเอลีซาเบธก็ได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และได้รับการไขแสดงให้ทราบว่าพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเสด็จมาเยี่ยมด้วยเช่นกัน จึง ดิ้น ด้วยความยินดีเมื่อได้ยินคำทักทายของพระแม่ (ลก 1:41)
      สมดังคำทำนายของทูตสวรรค์ที่พูดกับเศคาริยาห์ผู้เป็นบิดาว่า เขาจะรับ    พระจิตเจ้าเต็มเปี่ยมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา (ลก 1:15)
       เท่ากับว่า พระจิตเจ้าทรงยืนยันผ่านทางคำทักทายของนางเอลีซาเบธและการดิ้นของทารกในครรภ์ว่า พระนางมารีย์ผู้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ที่เราร่วมใจกันสมโภชในวันนี้ ทรงเป็น พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
       เป็นพระมารดาผู้ทรงตั้งครรภ์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า และบุตรที่บังเกิดมานั้น จะยิ่งใหญ่และได้ชื่อว่าพระบุตรแห่งพระเจ้าสูงสุด  พระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์แก่พระองค์ และพระองค์จะทรงครอบครองพงศ์พันธ์แห่งยาโคบตลอดไป  อาณาจักรของพระองค์จะไม่มีวันสิ้นสุดเลย (ลก 1:32-33)
      เพราะเหตุใดหรือพระนางมารีย์จึงได้รับเลือกให้เป็น พระมารดาขององค์    พระผู้เป็นเจ้า และได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ?
       เหตุผลประการแรกคือ พระแม่ทรงดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า
       ทั้งๆ ที่รู้สึกวุ่นวายพระทัยมากกับสิ่งที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่พระนาง  แต่พระแม่ตรัสตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด (ลก 1:38)
        เพราะทรงพร้อมน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นนี้เอง  นางเอลีซาเบธผู้เต็มเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า จึงร้องเสียงดังว่า เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด (ลก 1:42)
       ใช่ พระแม่ได้รับพระพรและมีบุญยิ่งกว่าหญิงใดๆ   เพราะพระแม่ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปรานและเลือกสรร
       แต่ความจริงที่ทิ่มแทงหัวใจของเราทุกคนก็คือ พระเจ้าทรงโปรดปรานและทรงเลือกสรรผู้หนึ่งผู้ใด มิใช่เพื่อให้เขาผู้นั้นกอบโกยความสุขสบายใส่ตัว แต่เพื่อให้ทุ่มเทความคิด จิตใจ และพละกำลังเพื่อทำภารกิจที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป
       นั่นคือ พระองค์ทรงเลือกสรรเราเพื่อให้เราทำภารกิจและได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ !!
       และหนทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มีอยู่เพียงหนทางเดียว นั่นคือ หนทางของไม้กางเขน
        ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นพระแม่ผู้ทรงได้รับการเลือกสรรให้เป็นพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงประทับยืนด้วยความทุกข์ตรมใจสุดซึ้ง ณ เชิงไม้กางเขน เฝ้าดูพระบุตรที่พระนางทรงอุ้มชูเลี้ยงดูมากับมือ ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไปต่อหน้าต่อตา
       การน้อมรับความตรมตรอมแสนสาหัสดุจดัง ดาบแทงทะลุจิตใจ ตามคำทำนายของสิเมโอน (ลก 2:35) นี้เอง ที่ทำให้พระแม่ได้รับพระพรและมีบุญยิ่งกว่าหญิงใดๆ !
หากปราศจากกางเขน พระแม่ย่อมปราศจากพระสิริรุ่งโรจน์ดังที่เราร่วมใจกันสมโภชการรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ฯ ของพระนางในวันนี้
       เพราะฉะนั้น เมื่อพระแม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด  ย่อมเท่ากับว่าพระแม่ทรงพร้อมดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า แม้จะต้องเผชิญกับกางเขนอันแสนตรมตรอมสักปากใดก็ตาม
      อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความทุกข์ตรมตรอมและความยากลำบากในชีวิต     พระแม่ได้รับความบรรเทาใจว่าทั้งหมดนี้คือ พระประสงค์ของพระเจ้า
       นี่คือชีวิตของพระแม่ !
       ฉะนั้น หากเป็น ลูกแม่ จริง เราต้องพร้อมกล่าวเช่นเดียวกับพระแม่ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด
และอย่าเพียงแต่พูดเท่านั้น แต่ต้องลงมือทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จลุล่วงไปดังที่ แม่ ของเราได้ทรงกระทำและทรงได้รับเกียรติสูงสุดในวันนี้อีกด้วย

       เหตุผลประการที่สองคือ พระแม่ทรงเชื่อและวางใจพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม
       นางเอลีซาเบธกล่าวกับพระแม่ว่า เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง (ลก 1:45)
       ใช่ ทุกคนที่เชื่อและวางใจในพระวาจาของพระเจ้าย่อมเป็นสุข !
       ใน บทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์ (Magnificat) พระแม่ทรงแสดงความเชื่อและความวางใจในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม
       เป็นความเชื่อและความวางใจที่พลิกโฉมหน้าของโลกอย่างสิ้นเชิง เพราะพระแม่ทรงเชื่อว่า พระเจ้าจะทรงฟื้นฟูและปฏิรูปชีวิตมนุษย์ ทุกด้าน !!!
1.    ด้านศีลธรรม
       พระแม่เชื่อว่าพระเจ้าจะ ทรงขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป (ลก 1:51)
       เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ความหยิ่งจองหองและความมักใหญ่ใฝ่สูงจะต้องมลายหายไป  เพราะเราจะมัวหยิ่งจองหองต่อไปได้อย่างไรใน เมื่อพระองค์ทรงเลือกเกิดในถ้ำเลี้ยงสัตว์ และทรงเลือกตายบนไม้กางเขน
       เมื่อความหยิ่งจองหองถูกทำลายหมดสิ้นไป เราจะเริ่มตระหนักว่าตนเองเป็นคนบาป อ่อนแอ และต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้ามากสักเพียงใด
       ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอังกฤษ เด็กชายและหญิงคู่หนึ่งนั่งเรียนติดกันจนรักใคร่ชอบพอกัน  ต่อมาเด็กหนุ่มเข้าไปทำงานในเมืองและหลงผิดกลายเป็นนักล้วงกระเป๋า     วันหนึ่งเขาสามารถฉกกระเป๋าเงินของหญิงชราผู้หนึ่งได้ด้วยทักษะและสติปัญญาอันเฉียบแหลมของเขา  ขณะที่ยืนยิ้มด้วยความภาคภูมิใจอยู่นั้นเอง พลันเด็กหญิงที่เคยนั่งเรียนติดกันก็เดินมา เธอยังคงหวานชื่นและสดใสบริสุทธิ์เหมือนเดิม  เมื่อสบตากันเขาตระหนักทันทีว่าตนเองช่างชั่วช้าเสียนี่กระไร  ด้วยความละอายใจ เขาพิงศีรษะกับเสาไฟอันเย็นเฉียบ พึมพำว่า ข้าแต่พระเจ้า ลูกอยากตาย
       ต่อหน้าคนรักผู้บริสุทธิ์ เขามองเห็นตัวเอง !
       เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าและพระแม่ผู้ทรงสุภาพถ่อมตน ความหยิ่งจองหองจะมลายหายไป และเราจะมองเห็นตัวตนที่แท้จริง
       นี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปศีลธรรม !
2.   ด้านสังคม
       พระแม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรง คว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์   และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น (ลก 1:52)
       นับจากนี้จะไม่มีการแยกแยะสังคมของคนชั้นสูงออกจากสังคมของคนชั้นต่ำอีกต่อไป  เพราะพระเยซูเจ้าทรงบังเกิดและสิ้นพระชนม์ เพื่อมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนสักเพียงใดก็ตาม
       ทุกคนล้วนได้รับการกอบกู้ และเป็นบุตรของพระเจ้า เหมือนกัน และ เท่าเทียมกัน
       ในยุคกลาง มีปัญญาชนเร่ร่อนคนหนึ่งนามว่ามูเรตัส (Muretus)  เขายากจนมากจนครั้งหนึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาลในฐานะคนจรจัด   คณะแพทย์สนทนากันเป็นภาษาละตินโดยคิดว่าเขาคงไม่เข้าใจ  แพทย์คนหนึ่งเสนอให้ใช้คนไร้ค่าอย่างเขาเป็นหนูทดลองยา  เขาแหงนหน้ามองแล้วตอบเป็นภาษาละตินว่า อย่าเรียกใครว่าไร้ค่าอีก เพราะพระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน
       พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน !!
3.   ด้านเศรษฐกิจ
       พระแม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรง ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า (ลก 1:53)
       สังคมที่ปราศจากพระเยซูเจ้ามักเป็นสังคมที่มีแต่ เอา ชนิดมือใครยาว สาวได้สาวเอา
       เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา พระองค์ทรงมีแต่ ให้  และทรงให้แม้กระทั่งชีวิตและโลหิตหยดสุดท้ายของพระองค์เอง !
       เพราะฉะนั้น สังคมคริสตชนจึงต้องเป็นสังคมที่ไม่มีใครกล้า มีมากเกินไป ในขณะที่คนอื่น มีน้อยเกินไป จนแทบดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้
       ยิ่งได้รับมากเท่าใด ยิ่งต้องให้มากเท่านั้น !
       ดุจเดียวกับพระแม่ที่ทรงได้รับพระพรมากกว่าหญิงใดๆ  พระแม่จึงมอบถวาย น้ำใจ ทั้งหมดของพระนางแด่พระเจ้า
       วาทะที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด จักต้องดังก้องอยู่ในจิตใจของ ลูกแม่ ทุกคน
       ทั้งวันนี้ที่เราสมโภชพระแม่รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ฯ  และตลอดไป !!!
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)