วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2011


สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
 ( วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2011 )
รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   ยอห์น 14:15-21
(15)ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา (16)และเราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่านเพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป (17)คือพระจิตแห่งความจริงซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้เพราะมองพระองค์ไม่เห็น และไม่รู้จักพระองค์ แต่ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่านและอยู่ในท่าน (18)เราจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน (19)ในไม่ช้า โลกจะไม่เห็นเรา แต่ท่านทั้งหลายจะเห็นเรา เพราะเรามีชีวิตและท่านก็จะมีชีวิตด้วย (20)ในวันนั้น ท่านจะรู้ว่า เราอยู่ในพระบิดาของเรา ท่านอยู่ในเรา และเราอยู่ในท่าน (21)ผู้ที่มีบทบัญญัติของเราและปฏิบัติตาม ผู้นั้นรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขาและจะแสดงตนแก่เขา
---------------------

      สำหรับพระเยซูเจ้า สิ่งเดียวที่พิสูจน์ความรักแท้คือ ความนบนอบเชื่อฟัง  เพราะรักพระบิดา พระองค์จึงทรงนบนอบเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาจนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์ แม้เป็นการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
      เช่นเดียวกัน เราจะแสดงความรักต่อพระเยซูเจ้าได้ก็โดยการนบนอบเชื่อฟังและปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ ดังที่ทรงตรัสว่า ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา (ยน 14:15)
      ความรักจึงไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกชอบหรือพอใจเท่านั้น แต่ต้องมีความนบนอบเชื่อฟังรวมอยู่ด้วย  หาไม่แล้วเราจะพบเด็กที่ปากบอกว่ารักพ่อรักแม่ แต่ไม่วายทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์เสียใจอยู่ทุกวัน  หรือสามีภรรยาที่ปากก็บอกว่ารักกัน แต่ไม่วายทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บปวดรวดร้าวด้วยการฉุนเฉียวใส่กันบ้าง โหดร้ายต่อกันบ้าง ไม่รู้จักเกรงอกเกรงใจกันบ้าง เป็นต้น
      ในเมื่อความรักแท้เรียกร้องให้เรานบนอบเชื่อฟังผู้ที่เรารัก รักแท้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย  ด้วยเหตุนี้พระเยซูเจ้าจึงทรงสัญญา จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้เรา เพื่อจะอยู่กับเราตลอดไป (ยน 14:16)
      ผู้ช่วยเหลือ ตรงกับคำกรีก paraklētos (พาราเคลตอส) ซึ่งมีความหมายตามรากศัพท์เพียง ผู้ที่ถูกเรียกมา  แต่โอกาสและเหตุผลที่ชาวกรีกใช้คำ พาราเคลตอส กลับมีขอบเขตกว้างขวางอย่างยิ่ง ดังเช่น
      1.    ผู้ที่ถูกเรียกมาเป็นพยานในศาลเพื่อ ประโยชน์ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
     2.   ผู้ที่ถูกเรียกมาเป็นทนาย แก้ต่าง ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาฉกรรจ์
     3.   ผู้ที่ถูกเรียกมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเพื่อ ให้คำปรึกษา ในสถานการณ์ที่ยุ่งยาก
      4.    ผู้ที่ถูกเรียกมา ให้กำลังใจ เช่น แก่กำลังพลที่ท้อแท้ ให้กลับมีจิตใจฮึกเหิมและกล้าหาญอีกครั้งหนึ่ง
      5.    ผู้ที่ถูกเรียกมาเพื่อ ช่วยเหลือ ในยามลำบากและขัดสน
      จะเห็นว่า ผู้ช่วยเหลือ ของชาวกรีกมีบทบาทกว้างขวางอย่างยิ่ง
      พระเยซูเจ้าตรัสว่า ผู้ช่วยเหลือ นี้คือ พระจิตแห่งความจริง (ยน 14:17)
      พระจิต จึงมีบทบาทกว้างขวางเช่นเดียวกัน  พระองค์เสด็จมาเพื่อประโยชน์ของเรา  เพื่อกำจัดจุดอ่อนและข้อบกพร่องในตัวเรา  เพื่อส่องสว่างสติปัญญาและจิตใจของเรา  รวมถึงช่วยเหลือเราให้สามารถจัดการกับชีวิตของเราอย่างผู้มีชัย
      แต่น่าเสียดายที่ โลกรับ (พระจิต) ไว้ไม่ได้เพราะมองพระองค์ไม่เห็น และไม่รู้จักพระองค์ (ยน 14:17)
      โลก ตามความคิดของนักบุญยอห์นหมายถึง ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากพระเจ้า พวกเขามองไม่เห็นพระจิตเจ้าเพราะพวกเขาไม่มีความสามารถที่จะมองเห็น !
ปกติ คนเราย่อมมองเห็นตามความสามารถที่จะเห็นของแต่ละคน  ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ย่อมมองเห็นดวงดาวในท้องฟ้าได้น้อยกว่านักดาราศาสตร์  ผู้ที่ไม่ใช่ศิลปินย่อมมองเห็นความงามและจินตนาการที่ซ่อนอยู่ในภาพวาดได้น้อยกว่าศิลปิน  ผู้ที่ไม่สนใจศิลปะไทยย่อมมองเห็นความงดงามของรำไทยได้น้อยกว่าหรืออาจมองไม่เห็นเลยก็เป็นได้ ดังนี้เป็นต้น
      ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากพระเจ้าจึงหมดความสามารถที่จะเห็นและรู้จักพระเจ้า และดังนั้น โลก จึงไม่อาจมองเห็นหรือรู้จักพระจิตเจ้า !!
      เราจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปโดยปราศจากพระเจ้า !
      ส่วนผู้ที่มีความเชื่ออยู่แล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่านและอยู่ในท่าน (ยน 14:17)
      ใช่ เรารู้จักพระจิตเจ้าแล้วก็จริง แต่พระองค์จะไม่มีวันพังประตูหัวใจเข้ามาดำรงอยู่ในเราอย่างเด็ดขาด เว้นแต่เราเองจะ เปิดหัวใจ เชิญพระองค์เข้ามา
      ในเมื่อพระจิตเจ้าสามารถช่วยเหลือเราได้มากมายปานนี้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะปลีกตัวจากความอึกทึกวุ่นวายในชีวิตเพื่อรอรับเสด็จและเชิญพระองค์เข้ามาประทับอยู่กับเรา !
      นอกจากทรงสัญญาว่าจะวอนขอพระบิดาส่งพระจิตเจ้ามาช่วยเหลือเราแล้ว พระเยซูเจ้ายังรับรองอีกว่า จะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน (ยน 14:18)
      กำพร้า หรือ orphanos (ออร์ฟานอส) ในภาษากรีก ไม่ได้หมายถึงไม่มีพ่อเท่านั้น แต่หมายถึงศิษย์ที่สูญเสียอาจารย์ผู้เป็นที่รักด้วย  ดังที่พลาโตปราชญ์ชาวกรีกเล่าว่า เมื่อโสกราตีสตาย ศิษย์ของเขาพากันคิดว่าคงต้องใช้ชีวิตที่เหลือแบบเด็กกำพร้าไม่มีพ่อ และพวกเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปดี
      แต่ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะไม่กำพร้าเหมือนศิษย์ของโสกราตีส เพราะพระองค์ตรัสว่า เราจะกลับมาหาท่าน (ยน 14:18)
พระองค์กำลังตรัสถึง การกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น โลกจะไม่เห็นเรา แต่ท่านทั้งหลายจะเห็นเรา เพราะเรามีชีวิตและท่านก็จะมีชีวิตด้วย (ยน 14:19)
      พระองค์กำลังหมายถึง ชีวิตฝ่ายจิต ซึ่ง โลก ไม่มีทางเห็นเพราะพวกเขาหมดความสามารถที่จะเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นจิตไปแล้ว !
      ส่วนบรรดาศิษย์ซึ่งขณะนี้กำลังสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากเพราะมองเห็นกางเขนรอพระองค์อยู่เบื้องหน้า แต่เมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ตาของพวกเขาจะเปิด สติปัญญาของพวกเขาจะเข้าใจ และหัวใจของพวกเขาจะเร่าร้อนเป็นไฟ
      เพราะการกลับคืนพระชนมชีพช่วยเปลี่ยนความสิ้นหวังของพวกเขาให้เป็นความหวัง  พวกเขากลับมีชีวิต (ฝ่ายจิต) และใจของพวกเขาสามารถมองเห็นพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้ พวกเขาเห็นและตระหนักแน่ชัดว่า เยซู ชาวนาซาเร็ธ พระอาจารย์ของพวกเขาที่ทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขน ทรงเป็น พระบุตรของพระเจ้า และทรง อยู่ในพระบิดา (ยน 14:20)
      ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ที่มีบทบัญญัติของเราและปฏิบัติตาม ผู้นั้นรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขาและจะแสดงตนแก่เขา (ยน 14:21)
      เราอาจสรุปความหมายของพระองค์ได้ 3 ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ
      1.    ความรักต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดหมด เพราะความรักเป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง  พระบิดาทรงรักพระบุตร พระบุตรทรงรักพระบิดา พระบิดาและพระบุตรทรงรักมนุษย์ มนุษย์รักพระบิดาโดยผ่านทางพระบุตร มนุษย์รักซึ่งกันและกันและผูกพันกันด้วยสายสัมพันธ์แห่ง ความรัก
      2.    ความนบนอบเชื่อฟังคือเครื่องพิสูจน์ความรักแท้
      3.    สิ่งที่ผู้นบนอบเชื่อฟังพระเยซูเจ้าจะได้รับคือ
            3.1  ความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด เพราะพระบิดาจะทรงรักเขา (ยน 14:21)  ในเมื่อพระบิดาทรงรักและเป็นมิตรกับเขา เขาจึงไม่ต้องหวั่นกลัวสิ่งใดอีกแม้แต่ในวันพิพากษา
            3.2  การแสดงตนของพระเยซูเจ้า เพราะพระบุตรจะทรงรักเขาเช่นเดียวกับพระบิดา (ยน 14:21)  เขาจะมีความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ และยิ่งสนิทสัมพันธ์กับพระองค์มากเท่าใด เขาจะยิ่งรู้จักและรักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น
            การได้รู้จักและรักพระเยซูเจ้าจะนำมาซึ่งการดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ คิดเหมือนพระองค์ และปรารถนาเหมือนพระองค์
            ในโลกนี้และในโลกหน้า ไม่มีอะไรสุดยอดไปกว่าการ มีชีวิตเหมือนพระเจ้า อีกแล้ว !
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.   สภาอภิบาล ขอเรียนเชิญร่วมงานเลี้ยงส่ง คุณพ่อวิจิตต์ แสงหาญ   เจ้าอาวาสเก่า  และเลี้ยงต้อนรับ คุณพ่อธีระ กิจบำรุง  เจ้าอาวาสใหม่   ในวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2011  เวลา 17.00 น. พิธีบูชามิสซา และเวลา 18.00 น. งานเลี้ยงรับประทานอาหาร  บัตรราคาใบละ 300 บาท (ซื้อบัตรได้ที่สภาอภิบาล)      
2.   ประกาศแต่งงาน   ฝ่ายชาย   นายนิคม ทิพย์สุขุม  บุตรนายถวิล และนางมยุรี ทิพย์สุขุม   ฝ่ายหญิง  เทเรซา นันทิยา เอกตระกูล  บุตรี เปโตร บุญนำ และเทเรซา สุนันท์ เอกตระกูล    สมรสวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 15.00 น.  ถ้าผู้ใดทราบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีข้อขัดขวางมิให้สมรสได้ ต้องแจ้งให้พระสงฆ์เจ้าอาวาสทราบ
3.  ยอดเงินบริจาค รณรงค์มหาพรต วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2011  จำนวน 2,799 บาท
4.  ยอดเงินบริจาคเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ที่ศูนย์นักบุญมาร์ติน    วัดพระแม่มหาการุณย์ รวม 25,397 บาท
5.  วันเสาร์ที่ 4 มิ.ย. 2011 เวลา 8.00-12.00 น. มีประชุมเซอร์ร่าที่วัดเซนต์จอห์น
6.  ตรวจสุขภาพ   วัดความดันโลหิต น้ำตาลและไขมันในเลือด วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2011

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2011

สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลปัสกา
 ( วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2011 )
ทักทายลูกวัด
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   ยอห์น 14:1-12
(1)ใจของท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวเลย จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย  (2)ในบ้านพระบิดาของเรามีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มีเราคงบอกท่านแล้ว เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน (3)และเมื่อเราไปและเตรียมที่ให้ท่านแล้วเราจะกลับมารับท่านไปอยู่กับเราด้วย เพื่อว่าเราอยู่ที่ใดท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย (4)ที่ที่เราจะไปนั้น ท่านรู้จักหนทางแล้ว (5)โทมัสทูลว่าพระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร” (6)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา (7)ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักเราท่านก็รู้จักพระบิดาของเราด้วย บัดนี้ ท่านก็รู้จักพระบิดาและเห็นพระองค์แล้ว (8)ฟิลิปทูลว่าพระเจ้าข้า โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด เท่านี้ก็พอแล้วพระเยซูเจ้าตรัสว่า (9) “ฟิลิปเอ๋ย เราอยู่กับท่านมานานเพียงนี้แล้ว ท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ” ‘ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย ท่านพูดได้อย่างไรว่าโปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด” (10)ท่านไม่เชื่อหรือว่าเราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา วาจาที่เราบอกกับท่านทั้งหลายนี้เรามิได้พูดตามใจของเรา แต่พระบิดาผู้สถิตในเราทรงกระทำกิจการของพระองค์ (11)ท่านทั้งหลายจงเชื่อเราเถิดว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาก็ทรงดำรงอยู่ในเรา หรืออย่างน้อยท่านทั้งหลายจงเชื่อเพราะกิจการเหล่านี้เถิด (12)เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่เชื่อในเรา ก็จะทำกิจการที่เรากำลังทำอยู่ด้วย และจะทำกิจการที่ใหญ่กว่านั้นอีก เพราะเรากำลังจะไปเฝ้าพระบิดา
---------------------
1.    จงเชื่อในเรา
พระเยซูเจ้ากำลังจะจากบรรดาศิษย์เพื่อกลับไปเฝ้าพระบิดาในเร็วๆ นี้ พระองค์ทรงทราบดีว่าจิตใจของพวกศิษย์กำลังว้าวุ่น กังวล และมืดมนแปดด้าน จึงทรงเตือนสติพวกเขาว่า ใจของท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวเลย จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย(ยน 14:1) แน่นอนว่าเราเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตที่มืดมนสุดขีดดังที่บรรดาศิษย์กำลังเผชิญอยู่ จนบางครั้งเราจำต้องยอมเชื่อในสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้และยอมรับในสิ่งที่ตนเองก็ยังไม่เข้าใจ ในช่วงเวลาอันมืดมิดเช่นนี้ หากเราเชื่อว่าชีวิตมีเป้าหมาย และเป้าหมายนี้กำหนดโดย พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักจิตใจของเราจะไม่หวั่นไหว เราจะสามารถทนในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทนได้ และจะมองเห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดนี้ได้ ความบรรเทาเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรา เชื่อในพระเจ้าและ เชื่อในพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงน่าเชื่อถืออย่างยิ่งเพราะว่า
1. พระองค์ทรงจริงใจ เมื่อกล่าวถึงที่พำนักในบ้านของพระบิดา พระองค์ตรัสตรงไปตรงมาว่า ถ้าไม่มี เราจะบอกท่านหรือว่าเรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน ?” (ยน 14:2) ก่อนหน้านี้พระองค์ตรัสอยู่เสมอว่าชีวิตคริสตชนต้องละทิ้งความสะดวกสบาย สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ(ลก 9:57-58) ต้องพบกับการกดขี่ข่มเหง ความเกลียดชัง การลงโทษ เราส่งท่านไปเหมือนแกะในฝูงสุนัขป่า... เขาจะมอบท่านที่ศาลและเฆี่ยนท่านในศาลาธรรมของเขา... พี่จะฟ้องน้อง น้องจะฟ้องพี่ให้ต้องโทษถึงตาย พ่อจะฟ้องลูก ลูกจะลุกขึ้นกล่าวโทษพ่อแม่ให้ถึงตาย คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา(มธ 10:16-22) และต้องแบกกางเขน ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา(มธ 16:24) ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงความจริงใจของพระองค์ พระองค์ไม่เคยใช้เล่ห์เหลี่ยมติดสินบนผู้ใดให้ติดตามพระองค์ด้วยการสัญญาว่า จะประทานตำแหน่งใหญ่โต ชื่อเสียงเกียรติยศ ความสะดวกสบาย หรือความมั่งคั่งใดๆ เลย เมื่อพระองค์ทรงจริงใจเช่นนี้ วาจาทุกถ้อยคำของพระองค์จึงน่าเชื่อถือและวางใจได้อย่างเต็มเปี่ยม !
2.    พระองค์ทรงรับประกันความปลอดภัย เพราะทรงเป็น ผู้เสด็จล่วงหน้า (ฮบ 6:20) ซึ่งตรงกับ prodromos (ปรอ-ดรอ-มอส) ในภาษากรีก ชาวกรีกใช้คำ prodromos เพื่อหมายถึงหน่วยลาดตระเวนในกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางล่วงหน้าให้แน่ใจว่าปลอดภัย จึงให้กองทัพที่เหลือติดตามไป พระเยซูเจ้าตรัสว่า เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน(ยน 14:2) ซึ่งเท่ากับทรงเป็น prodromos ผู้เสด็จล่วงหน้าไปก่อนเราเพื่อทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่ติดตามพระองค์จะได้รับความปลอดภัย พระองค์ทรงพิถีพิถันในรายละเอียดทุกขั้นตอน เราจึงเชื่อและวางใจพระองค์ได้เต็มเปี่ยม เหลือเพียงขั้นสุดท้ายคือ เราจะก้าวเดินตามพระองค์หรือไม่เท่านั้น ?!
3.    พระองค์คือผู้ชนะ พระองค์ตรัสว่า เราจะกลับมา(ยน 14:3) ซึ่งหมายถึง การเสด็จมาครั้งที่สองในฐานะผู้พิชิตและเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล เพื่อรับเราไปอยู่กับพระองค์ น่าเสียดายที่แทบไม่มีผู้ใดสนใจเรื่องการเสด็จกลับมาของพระองค์ ซ้ำร้ายบางคนยังดำเนินชีวิตราวกับว่าพระองค์จะไม่มีวันเสด็จกลับมาอีกและตนเองจะอยู่ค้ำฟ้า เรารู้ดีว่าพระองค์ทรงจริงใจและทุกถ้อยคำของพระองค์เชื่อถือได้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า เราจะกลับมาแปลว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาอย่างผู้ชนะจริงๆ  เราไม่อยากอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชนะหรือ ?!
4.    พระองค์คือสวรรค์ เพราะทรงตรัสว่า เพื่อว่าเราอยู่ที่ใด ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย(ยน 14:3) นี่คือคำจำกัดความของสวรรค์ที่ซื่อและง่ายที่สุดเท่าที่พระองค์ทรงสอนเราสวรรค์คือ การได้อยู่กับพระเยซูเจ้าตลอดไปเมื่อเรารักใครแบบสุดหัวใจสักคน เราจะมีชีวิตจริงๆ ก็ต่อเมื่อได้อยู่กับคนคนนั้นมิใช่หรือ กับพระเยซูเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน !  จากเหตุผลที่พระองค์ทรงบอกเราทั้งสี่ประการ จึงไม่มีเหตุอันใดที่จะปล่อยให้ชีวิตและจิตใจของเราหวั่นไหวเพราะไม่ยอมเชื่อพระองค์ !!!
2.    เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า เราอยู่กับท่านอีกไม่นาน แล้วเราจะกลับไปหาพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา(ยน 7:33) ซึ่งก็คือพระบิดา แต่จนแล้วจนรอดพวกศิษย์ก็ยังไม่เข้าใจ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตรัสถึง กางเขนซึ่งเป็นหนทางที่พระองค์ทรงเลือกเพื่อใช้กลับไปหาพระบิดา พวกเขายิ่งไม่เข้าใจหนักเข้าไปอีก 
ในบรรดาศิษย์ทั้งหมด มีโทมัสเพียงคนเดียวที่ยอมรับตรงไปตรงมาว่าตนไม่เข้าใจและสงสัย จึงทูลถามพระองค์ว่า พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร(ยน 14:5)  ความสงสัยของโทมัสมิใช่เรื่องเลวร้ายหรือน่าละอายแต่อย่างใด แต่กลับนำไปสู่คำตอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ นั่นคือ เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต(ยน 14:6) นอกจากยิ่งใหญ่สำหรับพระองค์เองแล้ว คำตอบนี้ยังยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา และยิ่งใหญ่มากกว่าอีกสำหรับชาวยิว เพราะทรงรวมความคิดอันเป็นพื้นฐานของศาสนายิวให้สำเร็จเป็นจริงในพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
1.    หนทางของพระเจ้าคือสิ่งที่ชาวยิวทุกคนต้องเดินตาม
พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า จงจำใส่ใจ และปฏิบัติตามที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงบัญชาแก่ท่าน อย่าหันไปทางขวาหรือทางซ้ายเลย แต่จงเดินตามทางซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงบัญชาท่านไว้ทุกประการ(ฉธบ 5:32-33)  ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีวอนขอพระเจ้าว่า ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้จักทางของพระองค (สดด 27:11)
ชาวยิวปรารถนาจะรู้จักและเดินตามหนทางของพระเจ้า บัดนี้พระเยซูเจ้าตรัสว่า เราเป็นหนทาง” !! เพื่อจะเข้าใจคุณค่าของคำว่า เราเป็นหนทางขอให้นึกภาพว่าเรามาจากต่างจังหวัดและกำลังหลงทางอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากสอบถามตำรวจจราจรนายหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ตรงไปแล้วเลี้ยวขวาตรงสัญญาณไฟแดงที่สอง ผ่านสวนอัมพร ข้ามลานกว้างที่มีรูปคนขี่ม้า ผ่านหน้าวัดแล้วเลี้ยวซ้าย คุณจะพบถนนที่ต้องการตรงสี่แยกที่สามเราคงงงแน่ โชคดีที่พระเยซูเจ้ามิได้เป็นเพียงคนบอกทางแบบตำรวจจราจร แต่ทรงเป็น หนทางด้วยพระองค์เอง นั่นหมายความว่า พระองค์ทรงจูงมือเรา ทรงนำทางเรา ประทานพละกำลังแก่เรา และทรงแนะนำทุกสิ่งแก่เราทุกวัน จนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย นี่คือความรักอันยิ่งใหญ่สูงสุดของพระองค์ !
2.    ความจริงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวยิวเพียรพยายามแสวงหาและวอนขอจากพระเจ้า ข้าแต่พระยาห์เวห์ ขอพระองค์ทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้วิถีทางของพระองค์ ข้าพเจ้าจะได้ดำเนินชีวิตในความสัตย์จริงของพระองค์(สดด 86:11) และ ข้าพเจ้าเลือกหนทางแห่งความจริง(สดด 119:30)
ใช่ ชาวยิวแสวงหาความจริงโดยเฉพาะความจริงทางด้านศีลธรรม จึงมีรับบีจำนวนมากออกมาสอนเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่การสอนความจริงทางด้านศีลธรรมนั้นแตกต่างจากการสอนวิชาอื่นๆ เช่น พลศึกษา เรขาคณิต หรือภาษาอังกฤษ ซึ่งอุปนิสัยและความประพฤติของครูผู้สอนไม่มีผลต่อเนื้อหาที่สอนมากนัก ตรงกันข้าม เราไม่อาจเอาคนที่ผิดลูกผิดเมียผู้อื่นมาสอนเรื่องความบริสุทธิ์ เอาคนโลภมากมาสอนเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือเอาคนที่ครอบงำกดขี่ผู้อื่นมาสอนเรื่องความสุภาพถ่อมตน เพราะความจริงด้านศีลธรรมจะสอนด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องสอนด้วยแบบอย่างที่ดีด้วยจึงจะบังเกิดผล  รับบีอาจพูดได้ว่า เราได้สอนความจริงแก่ท่านแต่มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่พูดได้ว่า เราเป็นความจริง  พระองค์ไม่เพียงสอนความจริงด้านศีลธรรมแก่เรา แต่หลักศีลธรรมได้บรรลุความครบครันขั้นสูงสุดในพระองค์  เราจึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเดินตามพระองค์แล้ว เราจะบรรลุเป้าหมายขั้นสูงสุดอย่างแน่นอน !
3.    ชีวิตคือสิ่งสูงสุดที่ชาวยิวแสวงหา พวกเขาอธิษฐานว่า พระองค์จะทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้จักหนทางแห่งชีวิต(สดด 16:11) และเชื่อว่า ผู้ที่รับฟังคำสั่งสอนก็อยู่ในหนทางสู่ชีวิต(สภษ 10:17)
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า เราเป็นชีวิตจึงหมายความว่าชาวยิวและเราทุกคนจะมีชีวิตอย่างแท้จริงและมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเจริญชีวิตร่วมกับพระองค์เท่านั้น การเจริญชีวิตร่วมกับพระองค์ย่อมหมายรวมถึง การคิดเหมือนพระองค์ ปรารถนาเหมือนพระองค์ และดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์  ชีวิตเหมือนพระเยซูเจ้าคือชีวิตที่มีคุณค่าและเป็นสุขอย่างแท้จริง !
3.    ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา
อาจกล่าวได้ว่าคำพูดนี้ทำให้คนสมัยก่อนงุนงงมากที่สุด เพราะชาวกรีกถือว่าพระเจ้า มองไม่เห็นส่วนชาวยิวเองก็เชื่อว่า ไม่มีมนุษย์ผู้ใดสามารถมองเห็นพระเจ้าได้แม้แต่โมเสสซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า พระองค์ยังตรัสว่า ท่านจะได้เห็นด้านหลังของเรา แต่ท่านจะไม่เห็นหน้าของเรา(อพย 33:23)
มนุษย์สมัยก่อนจึงถูกบีบบังคับให้อยู่กับพระเจ้าที่อยู่เหนือธรรมชาติ เหนือมนุษย์ และอยู่ไกลสุดเอื้อมจากมนุษย์ จนไม่มีใครเคยคิดว่าจะได้เห็นพระเจ้า ด้วยความปรารถนาอย่างยิ่ง ฟิลิปจึงทูลว่า พระเจ้าข้า โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด เท่านี้ก็พอแล้ว(ยน 14:8)  พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา(ยน 14:9) ซึ่งหมายความว่าเห็นพระองค์ก็เห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นใด เพราะพระองค์คือ พระเจ้าผู้ทรงเจริญชีวิตท่ามกลางมนุษย์
นับจากนี้ไป พระเจ้ามิได้อยู่ห่างไกลจากเราอีกต่อไป แต่ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเราและทรงเจริญชีวิตดุจเดียวกับเรา
1.    พระองค์ทรงอาศัยในบ้านธรรมดาๆ และในครอบครัวธรรมดาๆ ที่นาซาเร็ธ ไม่ใช่ในพระราชวังที่ใหญ่โตหรูหรา ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงทำให้การเกิดของมนุษย์ วัยเด็กของมนุษย์ บ้านของมนุษย์ และครอบครัวของมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ไป
2.    พระองค์ทรงทำงานเหมือนเรา ทรงเป็นช่างไม้ที่กรากกรำงานหนัก ต้องพบกับลูกค้านิสัยต่างๆ บางคนช่างบ่น บางคนเบี้ยวหนี้
ในอดีต พระธรรมเก่าสอนว่า งานคือผลของบาปกำเนิด(ปฐก 3:19) แต่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า งานคือพระสิริรุ่งโรจน เพราะพระหัตถ์ของพระเจ้าได้ทรงสัมผัสงานหนักเช่นเดียวกัน
3.    พระองค์ทรงถูกทดลอง และต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อชัยชนะเฉกเช่นเดียวกับเราพระเจ้าจึงเข้าใจปัญหาและสามารถช่วยเราได้ทุกคน
4.    พระองค์ทรงรักมนุษย์ กระทั่งยอมเจ็บปวดรวดร้าวดวงพระทัย ส่วนร่างกายก็ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากสำหรับผู้คนสมัยก่อนที่พระเจ้าไม่ทรงลงโทษมนุษย์ผู้ทรยศ แต่กลับยอมสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยเรามนุษย์ให้กลับมาคืนดีกับพระองค์
นี่คือพระเจ้าที่เราเห็นในองค์พระเยซูเจ้า !!
และเพื่อมิให้ชาวยิวไขว้เขวจากความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว (Monotheism) พระองค์จึงตรัสว่า วาจาที่เราบอกกับท่านทั้งหลายนี้เรามิได้พูดตามใจของเรา แต่พระบิดาผู้สถิตในเราทรงกระทำกิจการของพระองค์(ยน 14:10)
ความหมายคือ พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าองค์ที่สองเพราะทุกสิ่งที่ทรงคิด ทรงพูด หรือทรงกระทำล้วนเป็นกิจการของพระบิดาเจ้า พระองค์จึงเรียกร้องว่า ท่านทั้งหลายจงเชื่อเราเถิดว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาก็ทรงดำรงอยู่ในเรา หรืออย่างน้อยท่านทั้งหลายจงเชื่อเพราะกิจการเหล่านี้เถิด(ยน 14:11)
กิจการเหล่านี้ที่พระองค์ตรัสถึงคือ
1.    คำพูด เมื่อได้ฟังพระวาจาของพระองค์ เราสามารถตระหนักได้ทันทีว่านี่คือคำสอนของพระเจ้าเอง เพราะเนื้อหานั้นประเสริฐที่สุด ลึกซึ้งที่สุด เป็นจริงที่สุด และนำความสุขใจที่สุดมาสู่เรา ลำพังมนุษย์ย่อมไม่มีทางสอนเช่นนี้ได้
2.    การกระทำ ดังที่ทรงตรัสกับศิษย์ของยอห์นว่า จงไปบอกยอห์นถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็น คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี(มธ 11:4-5) และผู้ที่สามารถเปลี่ยนคนที่บกพร่องให้เป็นคนดีได้เช่นนี้ก็มีแต่ พระเจ้าเท่านั้น !  ทั้งคำพูดและการกระทำของพระองค์จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา
4. “ผู้ที่เชื่อในเรา จะทำกิจการที่ใหญ่กว่านั้นอีก
นี่คือคำมั่นสัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่าจะให้เราทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์เสียอีก  จริงอยู่พระศาสนจักรเริ่มแรกได้รักษาโรคภัยไข้เจ็บมากมาย (คร 12:9, 28, 30; ยก 5:14) แต่นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำตลอดชีวิต อย่างนี้จะเรียกว่าบรรดาอัครสาวกได้ทำกิจการที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์ได้อย่างไร ?  แต่เมื่อกาลเวลายิ่งผ่านพ้นไปมากเท่าใด ข้อเท็จจริงยิ่งพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงรักษาคำมั่นสัญญาทุกประการ
1.    เรารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้น อาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยีสาขาต่างๆ ทุกวันนี้เราสามารถทำศัลยกรรม บำบัดรักษา และผลิตยารักษาโรคได้มากมายชนิดที่ผู้คนในสมัยพระเยซูเจ้าได้แต่อ้าปากค้างร้องว่า อัศจรรย์ !”
เบื้องหลังความก้าวหน้าเหล่านี้คือความเสียสละ ความทุ่มเทชีวิตจิตใจ และการยอมเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อค้นคว้าวิจัยของผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เป็นพระเยซูเจ้าเองที่ตรัสกับพวกเขาผ่านทางพระจิตของพระองค์ว่า พวกท่านต้องช่วยกันรักษาคนเหล่านี้ มันเป็นทั้งเกียรติยศและความรับผิดชอบของท่านที่จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือพวกเขา
พระองค์คือผู้อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้ จนว่าทุกวันนี้ เราสามารถทำสิ่งที่ผู้คนในสมัยของพระองค์ได้แต่ฝันถึงเท่านั้น
2.    ทุกวันนี้คริสตศาสนาแผ่ขยายไปทั่วโลก ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ พระเยซูเจ้าไม่เคยเสด็จไปประกาศข่าวดีนอกแผ่นดินปาเลสไตน์เลย เพราะข้อจำกัดของร่างกายทำให้พระองค์ต้องจำกัดวงอยู่เฉพาะภายในปาเลสไตน์ แต่เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์และกลับเป็นขึ้นมา พระองค์ทรงเป็นอิสระจากข้อจำกัดของร่างกาย และพระจิตของพระองค์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วทุกแห่งหน ทั้งนี้ โดยผ่านทางผู้ที่เชื่อในพระองค์ !
ขอพระสถิตกับท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.   สภาอภิบาล ขอเรียนเชิญร่วมงานเลี้ยงส่ง คุณพ่อวิจิตต์ แสงหาญ   เจ้าอาวาสเก่า  และเลี้ยงต้อนรับ คุณพ่อธีระ กิจบำรุง  เจ้าอาวาสใหม่  ในวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2011  เวลา 17.00 น. พิธีบูชามิสซา และเวลา 18.00 น. งานเลี้ยงรับประทานอาหาร  บัตรราคาใบละ 300 บาท (ซื้อบัตรได้ที่สภาอภิบาล)      
2.   ยอดเงินบริจาค รณรงค์มหาพรต วันอาทิตย์ที่ 15 พ.ค. 2011  จำนวน 9,782 บาท
3.  มิสซาอุทิศแด่วิญญาณ เทเรซา วิมล  อยู่ยืนยง  ครบ 100 วัน   วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2011  เวลา 14.00 น.
4.   สภาอภิบาล จะไปร่วมทำบุญเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ที่ศูนย์นักบุญมาร์ติน  วัดพระแม่มหาการุณย์ ในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2011 มีรถออกเวลา 10.00 น.  ผู้สนใจร่วมบริจาคและร่วมเดินทาง ลงชื่อได้ที่หน้าวัด
5.  วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2011  เวลา 8.00-12.00 น. มีประชุมเซอร์ร่าที่วัดเซนต์จอห์น

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2011

สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา ( วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2011 )
ทักทายลูกวัด
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   ยอห์น 10:1-10
 (1)เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่ไม่เข้าคอกแกะทางประตู แต่ปีนเข้าทางอื่น ก็เป็นขโมยและโจร  (2)ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ  (3)คนเฝ้าประตูย่อมเปิดประตูให้เขาเข้าไป บรรดาแกะก็ฟังเสียงเขา เขาเรียกชื่อแกะของตนทีละตัว และพาออกไปข้างนอก  (4)เมื่อเขาพาแกะออกไปหมดแล้ว เขาจะเดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะจำเสียงของเขาได้  (5)แกะจะไม่ตามคนแปลกหน้าเลย แต่จะหนีจากเขา เพราะไม่รู้จักเสียงของคนแปลกหน้า (6)พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาเรื่องนี้ให้คนเหล่านั้นฟัง แต่เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นหมายถึงสิ่งใด (7) พระเยซูเจ้ายังตรัสกับเขาอีกว่า เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราเป็นประตูคอกแกะ (8)ทุกคนที่มาก่อนหน้าเราเป็นขโมยและโจร แต่แกะมิได้ฟังเสียงของเขาเหล่านั้น(9)เราเป็นประตู ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออกและจะพบทุ่งหญ้า (10)ขโมยย่อมมาเพื่อขโมย ฆ่าและทำลาย เรามาเพื่อให้แกะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์
       ภูมิประเทศของปาเลสไตน์ประกอบด้วยที่ราบสูงแคบๆ เป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้  ในแคว้นยูเดียที่ราบสูงจากเมืองเบธเอลถึงเมืองเฮโบรนมีความยาวประมาณ 56 กิโลเมตร และกว้างแตกต่างกันจาก 22 ถึง 27 กิโลเมตร  พ้นจากที่ราบสูงก็เป็นหน้าผาสูงชันและถิ่นทุรกันดารในทะเลทราย  พื้นที่ส่วนใหญ่บนที่ราบสูงเป็นหินขรุขระจึงเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์มากกว่าการเพาะปลูก
ภาพของ คนเลี้ยงแกะ จึงเป็นที่คุ้นเคยของผู้คนบนดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้
คนเลี้ยงแกะมีหน้าที่รับผิดชอบแกะทุกตัวในฝูง  ถ้าแกะหายเขาต้องตามหาจนพบ  ถ้าแกะตายเขาต้องนำซากแกะกลับบ้านเพื่อยืนยันว่าแกะตายและตายอย่างไร  เพื่อป้องกันฝูงแกะจากเหตุร้าย คนเลี้ยงแกะจึงต้องยืนพิงไม้เท้า อดตาหลับขับตานอน ตากแดดตากฝน เพ่งตาเฝ้ามองฝูงแกะมิให้พลัดหลงหรือตกลงไปในซอกหินตามหน้าผา อีกทั้งต้องพร้อมเสี่ยงชีวิตป้องกันแกะจากขโมยและฝูงสุนัขป่า
การตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอ ความกล้าหาญไม่หวั่นเกรงอันตราย ตลอดจนความรักและอดทนต่อฝูงแกะ เหล่านี้คือคุณสมบัติที่จำเป็นของคนเลี้ยงแกะ  ด้วยภาพพจน์ที่ดีเลิศเช่นนี้เอง คนเลี้ยงแกะจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว
ในพระธรรมเก่า พระเจ้าได้รับการวาดภาพว่าเป็น ผู้เลี้ยงแกะ และชาวยิวคือฝูงแกะของพระองค์ พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าอย่างผู้เลี้ยงแกะ  ข้าพเจ้าจึงไม่ขาดสิ่งใด (สดด 23:1) ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นประชากรของพระองค์และเป็นฝูงแกะที่ทรงเลี้ยงดู จะขอบพระคุณพระองค์ตลอดไป (สดด 79:13)
ประกาศกทำนายถึงพระเมสสิยาห์ว่าจะเป็นดั่งผู้เลี้ยงแกะด้วยเช่นกัน พระองค์ทรงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ดั่งคนเลี้ยงแกะ พระองค์ทรงรวบรวมบรรดาลูกแกะไว้ในอ้อมพระกร โอบอุ้มไว้แนบพระทรวง พระองค์ทรงนำแม่แกะที่มีลูกอย่างอ่อนสุภาพ (อสย 40:11)
บรรดากษัตริย์ของชาวยิวก็เป็นดังผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ไม่ดี วิบัติแก่บรรดาคนเลี้ยงแกะซึ่งผลาญทำลายและทำให้ลูกแกะในท้องทุ่งของเรากระจัดกระจายไป ! ...เนื่องจากเจ้าขับไล่ไสส่งและไม่ได้ดูแลเอาใจใส่พวกเขา (ยรม 23:1-4)
ในพระธรรมใหม่ พระเยซูเจ้าเองทรงเป็น ผู้เลี้ยงแกะที่ดี  พระองค์ทรงพร้อมจะเสี่ยงชีวิตตามหาและช่วยลูกแกะที่พลัดหลงให้ปลอดภัย ถ้าชายคนหนึ่งมีแกะอยู่ร้อยตัว แล้วแกะตัวหนึ่งบังเอิญหลงทาง เขาจะไม่ปล่อยแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้บนภูเขา เพื่อค้นหาแกะตัวที่หลงไปหรือ (มธ 18:12; ลก 15:4) พระองค์ทรงสงสารประชาชน เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง (มธ 9:36; มก 6:34)
นอกจากนั้น พระองค์ยังตรัสกับเปโตรว่า จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด (ยน 21:15-19) และเปโตรได้ขอร้องบรรดาผู้นำของพระศาสนจักรต่อมาว่า จงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน จงดูแลด้วยความเต็มใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่ดูแลด้วยจำใจ จงดูแลด้วยความสมัครใจ มิใช่ดูแลเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง  จงเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง (1 ปต 5:2-3)
นอกจากภาพพจน์ที่ดีเลิศของคนเลี้ยงแกะแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง คนเลี้ยง กับ แกะ ก็ดีเยี่ยมด้วย สาเหตุเป็นเพราะชาวยิวนิยมเลี้ยงแกะไว้เพื่อตัดขนมิใช่เพื่อฆ่ากินเนื้อ  แกะจึงมีอายุยืนยาวและมีโอกาสอยู่กับคนเลี้ยงเป็นเวลานานหลายปีจนคนเลี้ยงจำแกะของตนได้ทุกตัว และแกะก็จำเสียงของคนเลี้ยงได้เป็นอย่างดี  พวกเขามักตั้งชื่อให้แกะแต่ละตัวตามลักษณะของมัน เช่น ไอ้ ขาน้ำตาล  นัง หูดำ ฯลฯ  ปกติคนเลี้ยงแกะจะเดินนำหน้าฝูงแกะเพื่อดูว่าหนทางปลอดภัยหรือไม่และส่งเสียงร้องดัง ๆ เป็นครั้งคราวเพื่อให้แกะรู้ว่าตนอยู่ที่ใด  หากเป็นเสียงที่ไม่คุ้นเคย แกะจะหยุดอยู่กับที่ ถ้าเสียงนั้นดังซ้ำอีกพวกมันจะหันกลับแล้ววิ่งหนีไป
       กลับมาที่ คอกแกะ !     
คอกแกะมี 2 ประเภท  ประเภทแรกเป็นคอกแกะประจำหมู่บ้านสำหรับให้แกะทุกฝูงของหมู่บ้านเข้าพักพิงยามค่ำคืนหลังกลับจากทุ่งหญ้า  คอกประเภทนี้มีประตูแข็งแรงแน่นหนา  มีคนเฝ้าประตูถือกุญแจคอยเปิดปิดประตูยามคนเลี้ยงแกะนำฝูงแกะเข้าออกจากคอก
เมื่อตรัสว่า ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ คนเฝ้าประตูย่อมเปิดประตูให้เขาเข้าไป (ยน 10:2, 3) พระองค์กำลังหมายถึงประตูคอกแกะประจำหมู่บ้าน
คอกแกะประเภทที่สองอยู่ตามทุ่งหญ้า มีไว้ให้แกะพักพิงเวลาไม่กลับหมู่บ้านในช่วงอากาศอบอุ่น (ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน)  คอกแกะประเภทนี้อยู่ในที่โล่งแจ้ง มีกำแพงล้อมรอบโดยเว้นช่องว่างไว้หนึ่งช่องสำหรับแกะผ่านเข้าออก  ช่องว่างนี้ไม่มีประตู เวลากลางคืนคนเลี้ยงแกะจึงต้องนอนขวางช่องว่างนี้ไว้จนไม่มีทางใดเลยที่แกะจะผ่านเข้าออกจากคอกได้เว้นแต่จะเดินข้ามร่างของคนเลี้ยงแกะ  โดยทางพฤตินัยจึงเป็น คนเลี้ยงแกะ นั่นเองที่เป็น ประตู
นี่คือเบื้องหลังที่ทำให้พระเยซูเจ้าตรัสว่า เราเป็นประตู (ยน 10:9)
ความหมายของพระองค์คือ จำเป็นต้องผ่านทางพระองค์ และผ่านทางพระองค์แต่เพียงผู้เดียว เราจึงเข้าถึงพระเจ้าได้  ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า เดชะพระองค์เราทั้งสองฝ่าย (ผู้ที่เข้าสุหนัตและมิได้เข้าสุหนัต) จึงเข้าไปเฝ้าพระบิดาเจ้าได้ (อฟ 2:18)
พระองค์ทรงเป็น ทางใหม่ที่ให้ชีวิต (ฮบ 10:20)
นอกจากตรัสว่า เราเป็นประตู แล้วพระองค์ยังเสริมอีกว่า ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออก และจะพบทุ่งหญ้า (ยน 10:9)
การ เข้า-ออก โดยไม่ได้รับอันตรายเป็นสำนวนพูดของชาวยิวหมายถึง ชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยสูงสุด
หากประชาชนสามารถเข้าออกประตูเมืองได้โดยไม่หวาดหวั่น ย่อมหมายความว่าเมืองนั้นปลอดภัย มีขื่อมีแป มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีสันติสุข  ผู้นำชาวอิสราเอลจึงมีหน้าที่นำประชาชนออกไปและกลับเข้ามา (กดว 27:17)
นอกจากนั้น ผู้ที่นบนอบเชื่อฟังพระเจ้ายังจะได้รับพระพร ทั้งเมื่อเข้ามาและเมื่อออกไป (ฉธบ 28:6)  พระองค์ จะทรงพิทักษ์ท่านทั้งเมื่อออกไปและเข้ามา บัดนี้และตลอดไป (สดด 121:8)
เท่ากับพระเยซูเจ้าต้องการบอกเราว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงพระเจ้าโดยผ่านทางพระองค์ เราจะรับรู้ได้ทันทีว่าความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดได้เข้ามาสู่ชีวิตของเรา
เพราะบัดนี้ชีวิตของเราอยู่ในอ้อมพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา ความหวาดกลัวและวิตกกังวลทั้งปวงจึงมลายสูญหายไปสิ้น !
ส่วนผู้ที่มาก่อนหน้าพระองค์ทุกคนล้วน เป็นขโมยและโจร แต่แกะมิได้ฟังเสียงของเขาเหล่านั้น (ยน 10:8)
ผู้ที่มาก่อนหน้าพระองค์ไม่ได้หมายถึงบรรดาประกาศก แต่ทรงหมายถึงพวกกระหายเลือด !
โยเซฟุสเล่าว่า เกิดความโกลาหลวุ่นวายในแคว้นยูเดียถึงหนึ่งหมื่นครั้ง ส่วนใหญ่ชักนำโดยผู้ที่อ้างตัวว่ามาจากพระเจ้า แต่จริงๆแล้วคือพวกกบฏ  พวกเขาเชื่อว่ายุคทองของชาวยิวจะได้มาก็โดยการนองเลือดและสงครามกับกองทัพโรมันเท่านั้น  พวกเขาพร้อมจะฆ่าทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนรักและตัวเองหากว่ามันจะช่วยให้ความหวังของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมา
พวกเขามา เพื่อขโมย ฆ่าและทำลาย แต่พระองค์เสด็จมา เพื่อให้แกะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ (ยน 10:10)
ราวกับพระองค์กำลังตรัสว่า มีคนมาก่อนหน้าเราและอ้างตัวเป็นผู้นำที่พระเจ้าทรงส่งมา  พวกเขาเลือกหนทางของสงครามและการฆ่าฟันซึ่งมีแต่จะชักนำมนุษย์ให้ยิ่งออกห่างจากพระเจ้า  แต่หนทางของเราคือหนทางแห่งสันติสุข ความรัก และชีวิต  หากพวกท่านเลือกหนทางนี้ มันจะนำท่านเข้าใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งวันยิ่งมากขึ้น
มีเรื่องเล่าว่า ทหารโรมันผู้ท้อแท้สิ้นหวังและหมดอาลัยตายอยากในชีวิตคนหนึ่งได้มาหาจูเลียส ซีซาร์เพื่อขออนุญาตฆ่าตัวตาย  ซีซาร์มองเขาแล้วถามว่า เจ้าเคยมีชีวิตด้วยหรือ ?
นั่นเป็นเพราะเมื่อเราดำเนินชีวิตตามลำพัง ชีวิตย่อมมืดมนและท้อแท้
แต่เมื่อเราดำเนินชีวิตพร้อมกับพระคริสตเจ้า เรากลับมีชีวิตชีวา และมีอย่างสมบูรณ์เหลือเฟือ
ทุกสิ่งกลับมีความหมาย มีคุณค่า และมีสันติสุข !!
ขอพระสถิตกับท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)