วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2011

อาทิตย์ที่ 31  เทศกาลธรรมดา
( วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2011 )


รำพึงพระวาจา

พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 23:1-12
ความหน้าซื่อใจคดและความชอบโอ้อวดของธรรมาจารย์และชาวฟาริสี
(1)ครั้งนั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่ประชาชนและบรรดาศิษย์ว่า  (2)พวกธรรมา-จารย์และชาวฟาริสีนั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส  (3)ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด แต่อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา เพราะเขาพูด แต่ไม่ปฏิบัติ  (4)เขามัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น แต่เขาเองไม่ปรารถนาแม้แต่จะขยับนิ้ว  (5)เขาทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนเห็น เช่น เขาขยายกลักบรรจุพระวาจาให้ใหญ่ขึ้น ผ้าคลุมของเขามีพู่ยาวกว่าของคนอื่น  (6)เขาชอบที่นั่งมีเกียรติในงานเลี้ยง ชอบนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม  (7)ชอบให้ผู้คนคำนับตามลานสาธารณะ  ชอบให้ทุกคนเรียกว่า รับบี  (8)ส่วนท่านทั้งหลายอย่าให้ผู้ใดเรียกว่า รับบี เพราะอาจารย์ของท่านมีเพียงผู้เดียวและทุกคนเป็นพี่น้องกัน  (9)ในโลกนี้อย่าเรียกผู้ใดว่า บิดา เพราะว่าพระบิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์  (10)อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า  อาจารย์ เพราะพระอาจารย์ของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระคริสตเจ้า  (11)ในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเป็นใหญ่จะต้องเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น  (12)ผู้ใดที่ยกตนขึ้น จะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น



       พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของพวกฟาริสีอย่างหมดเปลือกในมัทธิวบทที่ 23 นี้เอง
       อย่างไรก็ตาม  พระองค์ยอมรับว่าความเชื่อของชาวยิวมีการสืบทอดและส่งต่อกันมาโดยไม่ขาดตอน  เริ่มจากพระเจ้าทรงมอบบัญญัติสิบประการแก่โมเสส  โมเสสส่งต่อให้โยชูวา  โยชูวาส่งต่อให้บรรดาผู้อาวุโสของชาวอิสราเอล  ผู้อาวุโสส่งต่อให้บรรดาประกาศก  และที่สุดพวกประกาศกได้ส่งต่อให้แก่บรรดาธรรมาจารย์และฟาริสี
       และจากมัทธิว 5:17-20 เราอาจสรุปได้ว่าบัญญัติสิบประการมีพื้นฐานอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการคือ
       1.    เคารพยำเกรงพระเจ้า  รวมถึงพระนามและวันของพระองค์
       2.    เคารพบิดามารดา  ชีวิต  ทรัพย์สิน  ชื่อเสียงของมนุษย์ ตลอดจนเคารพตัวเองโดยไม่ยอมตกอยู่ใต้การครอบงำของกิเลสตัณหาต่างๆ
       หลักการทั้งสองนี้คงอยู่ชั่วนิรันดร  เพราะฉะนั้นตราบใดที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีสอนให้เราเคารพยำเกรงพระเจ้าและเคารพเพื่อนมนุษย์ ตราบนั้นคำสอนของพวกเขาถูกต้องและมีผลผูกพันดังที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด เพราะว่าพวกเขากำลังนั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส  และกำลังสืบทอดคำสอนที่โมเสสได้รับมาจากพระเจ้า
       แต่ใช่ว่าพระองค์จะยอมรับบทบาทของพวกธรรมาจารย์และฟาริสีทั้งหมด !
       1.    ในทางปฏิบัติ พวกเขา มัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น (ข้อ 4) ด้วยการวางกฎระเบียบและข้อบังคับมากมายนับพัน ๆ ข้อ
              นอกจาก จำนวนมาก แล้ว พวกเขายังสร้าง เกราะป้องกัน ให้แก่กฎที่พวกเขาคิดค้นสร้างขึ้นมาด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดละเมิดหรือยกเลิกกฎของพวกเขา แม้ว่ากฎข้อนั้นจะขัดต่อความรักและความเคารพเพื่อนมนุษย์มากสักเพียงใดก็ตาม
              ด้วยเหตุนี้ แทนที่ศาสนาจะนำความยินดีและพละกำลังมาสู่เรามนุษย์  กลับกลายเป็นว่าศาสนานั่นเองแหละที่เป็นตัวถ่วงมนุษย์ให้จมดิ่งสู่ความขมขื่นยิ่งขึ้นไปอีก
              ซ้ำร้าย พวกเขาสร้างกฎระเบียบมากมายให้ผู้อื่นปฏิบัติ โดยที่พวกเขาเองจะปฏิบัติก็ต่อเมื่อ มีคนเห็นและยกย่องชมเชยความศรัทธาของพวกเขา เท่านั้น
       2.    เขาทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนเห็น (ข้อ 5) พวกเขาเปลี่ยนหลักการสำคัญของบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่โมเสสจากการเคารพยำเกรงพระเจ้าและเคารพเพื่อนมนุษย์ไปเป็น การโอ้อวด ความศรัทธาของตนเอง
              ใครปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ได้เข้าตากรรมการ ถือว่าศรัทธามาก !
              เขาขยายกลักบรรจุพระวาจาให้ใหญ่ขึ้น  เมื่อโมเสสกำชับประชาชนให้ระลึกถึงการอพยพออกจากอียิปต์ด้วยการทำพิธีกินขนมปังไร้เชื้อแล้ว ท่านสรุปว่า พิธีนี้จะเป็นเหมือนเครื่องหมายที่มือของท่าน เป็นเครื่องเตือนใจต่อหน้าต่อตาท่าน (อพย 13:9, 16; ฉธบ 6:8; 11:18)
              ชาวยิวจึงห้อยกลักทำด้วยกล่องหนังเล็กๆ ไว้ที่ข้อมือและหน้าผากทุกวันเวลาสวดภาวนา ยกเว้นวันสับบาโต  ภายในกลักบรรจุด้วยม้วนแผ่นหนังที่จารึกข้อความจากพระคัมภีร์ 4 ตอนด้วยกันคือ อพย 13:1-10; 13:11–16; ฉธบ 6:4–9; 11:13–21
              พวกฟาริสีไม่เพียงห้อยกลักทุกวันเท่านั้น แต่ยังขยายกลักให้ใหญ่กว่าของชาวบ้านเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขานบนอบต่อบัญญัติและมีความศรัทธามากสักเพียงใด
              ผ้าคลุมของเขามีพู่ยาวกว่าของคนอื่น  พระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสสให้บอกชาวอิสราเอลว่า ท่านทั้งหลายและลูกหลานของท่านจะต้องทำพู่ห้อยไว้ที่มุมผ้าคลุมและใช้เชือกสีม่วงแดงเย็บติดไว้  ท่านจะมีพู่ห้อยติดผ้าคลุมเช่นนี้ และเมื่อเห็นพู่ห้อย ท่านจะระลึกถึงบทบัญญัติของพระยาห์เวห์และจะปฏิบัติตาม (กดว 15:37-41; ฉธบ 22:12)
              เช่นเดิม พวกเขาทำพู่ให้มีขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงบัญญัติและปฏิบัติตาม แต่เพื่อดึงดูดผู้อื่นให้สนใจพวกเขา
              พวกเขาชอบที่นั่งมีเกียรติในงานเลี้ยง โดยเฉพาะข้างซ้ายและข้างขวาของเจ้าภาพ  ถ้าเป็นปัจจุบันพวกเขาก็จะมีภาพลงหนังสือพิมพ์หรือได้ออกทีวีด้วย
              พวกเขาชอบนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม  ในปาเลสไตน์ พวกเขาจัดให้เด็กและพวกที่ไม่มีความสำคัญนั่งแถวหลัง ส่วนแถวหน้าๆ เป็นของแขกผู้มีเกียรติและบุคคลสำคัญ  ที่นั่งที่มีเกียรติที่สุดเป็นของบรรดาผู้อาวุโสซึ่งจะหันหน้าหาประชาชน เหมือนที่นั่งของพระสงฆ์เวลาถวายบูชามิสซา
              ที่นั่งที่หันหน้าหาประชาชนนี่แหละที่พวกฟาริสีชอบยิ่งนัก เพราะทุกคนสามารถรับรู้ได้ว่าพวกเขาอยู่ในที่ประชุม และมีความสำรวมน่าเลื่อมใสศรัทธามากปานใด
              พวกเขาชอบให้ทุกคนเรียกว่า รับบี’” และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพมากยิ่งกว่าพ่อแม่ของตนเองเสียอีก  พวกเขาอ้างว่าพ่อแม่ให้ได้เพียงชีวิตตามธรรมชาติ ส่วนพวกเขาสามารถสอนบัญญัติที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร
              พวกเขาชอบให้คนเรียกว่า บิดา’”  เพราะพวกเขาสามารถทำให้คนมีความเชื่อได้ พวกเขาจึงควรเป็น บิดา แห่งความเชื่อ และทุกคนควรเรียกพวกเขาว่า บิดา เหมือนที่เอลีชาเรียกเอลียาห์ว่า บิดาของข้าพเจ้า บิดาของข้าพเจ้า ขณะที่เอลียาห์ถูกยกขึ้นไปบนฟ้าในพายุหมุน ( 2 พกษ 2:12)
              แต่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราคริสตชนให้ระลึกอยู่เสมอว่า พระอาจารย์ของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระคริสตเจ้า (ข้อ 10) และ บิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์ (ข้อ 9)
       พระองค์ตรัสสั่งเราทุกคนว่า อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา (ข้อ 3) เพราะพวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะดึงดูดความสนใจมาสู่ตนเอง
ในทางกลับกัน พระองค์สอนให้เราทุกคนละทิ้ง ตัวตน หรือ อัตตา ของเรา (มธ 10:39) เพื่อว่าหากผู้อื่นเห็นกิจการดีในตัวเรา พวกเขาจะไม่สรรเสริญตัวเรา แต่สรรเสริญพระบิดาในสวรรค์ (มธ 5:16)
ถ้าเรายังชอบ โอ้อวด และ หยิ่งจองหอง แล้วเราจะต่างจากพวก  ฟาริสีอย่างไร ?
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.           วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2011  มิสซาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ เวลา
18.00 น.    
2.     ส่งศีลศุกร์ต้นเดือน  วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2011
3.         มิสซาศุกร์ต้นเดือน  วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2011 
     เวลา 18.00 น.  ตั้งศีลฯ (สวดชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์) , อวยพรศีลฯ
     และต่อด้วยมิสซา
4. แห่แม่พระ  วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2011  หลังมิสซา 18.00 น.
5. มิสซาอุทิศแก่วิญญาณครอบครัว ชินะผา  และ เปโตร สมัย ชินะผา  ครบ 4 ปี (8 พ.ย.) วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2011  เวลา 10.00 น. ณ วัดเซนต์จอห์น
6. ประชุมผู้สูงอายุ วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2011  เวลา   
     9.00 น. หลังจากประชุมมีพิธีมิสซาสำหรับผู้อายุ เวลา
     ประมาณ 10.30 น.
โดยคุณพ่อชุมภา  คูรัตน์  เป็นประธาน
7.   ประชุมสภาภิบาล วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2011  เวลา 10.30 น.  ณ ห้องประชุมชั้นล่าง  ( มี ตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต น้ำตาลและไขมันในเลือด)

8.    คณะสงฆ์ เขต 1 และ เขต 2  ขอเชิญรวมพลังปิดเดือน คาทอลิกไทยพร้อมเพรียง ไม่สิ้นเสียงสายประคำ  วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2011  ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก
                16.30 น.      สวดสายประคำ
                17.00 น.      พิธีมิสซา โดย อุปสังฆราช สานิจ  สถะวีระวงส์
                หลังพิธีมิสซา แห่พระรูปแม่พระรอบอาสนวิหารอัสสัมชัญ
9.    เลื่อน
1) เลื่อนวันเสกสุสาน ศานติคามเป็นวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2012 (มี 2 รอบ  เวลา 9.00 น. และ 16.30 น.) 
2)  วัดนักบุญอันเดร บางภาษี เลื่อนการฉลองวัดในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2011  เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม  
3)  วัดราชินีแห่งสันติสุข  สุขุมวิท 101  ของดการฉลองวัด ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.2011 เนื่องจากภาวะวิกฤติน้ำท่วมอย่างรุนแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
10. ฉลองวัด
1) วัดอัสสัมชัญ พัทยา เปิดและเสกวัดใหม่ วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2011 เวลา 10.30 น.  (ประธาน : พระสังฆราช ซิลวีโอ สิริพงษ์    จรัสศรี )

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2011

อาทิตย์ที่ 30  เทศกาลธรรมดา
( วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2011 )


รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 22:34-40
(34)เมื่อชาวฟาริสีได้ยินว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวสะดูสีนิ่งอึ้งไป จึงมาชุมนุมพร้อมกัน  (35)มีคนหนึ่งเป็นบัณฑิตทางกฎหมายได้ทูลถามเพื่อจะจับผิดพระองค์ว่า  (36)พระอาจารย์ บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า (37)ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน (38) นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก (39) บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง (40) ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้


       เรามักได้ยินชื่อฟาริสีและสะดูสีควบคู่กันบ่อยๆ จนคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไปด้วยกันไม่ได้เลย
       ในด้านสังคมและการเมือง พวกสะดูสีแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าแต่เป็นชนปกครองชั้นสูงอย่างเช่นมหาสมณะ ซึ่งร่ำรวย แนบแน่น และพร้อมร่วมมือกับโรมเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ ต่างจากพวกฟาริสีซึ่งไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
       ในด้านความคิด พวกสะดูสีเปิดใจรับความคิดแบบกรีกมากกว่าแบบยิว
       ในด้านความเชื่อ สะดูสีเป็นพวกอนุรักษ์นิยมซึ่งยอมรับพระธรรมเก่าเฉพาะห้าเล่มแรก (ปัญจบรรพ) เท่านั้น  ส่วนสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่นคำสอนของบรรดาประกาศก บทเพลงสดุดี และกฎระเบียบทั้งที่เล่าสืบทอดกันมาหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งพวกฟาริสีถือว่าสำคัญดั่งกล่องดวงใจนั้น พวกเขากลับไม่ยอมรับ
       เมื่อไม่ยอมรับคำสอนสมัยหลัง พวกสะดูสีจึงไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายเพราะไม่มีข้อความใดในหนังสือปัญจบรรพบอกว่าคนตายจะกลับคืนชีพ
       พระเยซูเจ้าจึงตรัสถามพวกเขาว่า ท่านไม่ได้อ่านพระวาจา ที่พระเจ้าตรัสแก่ท่านหรือว่า เราคือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น (มธ 22:31-32)
       แสดงว่าอับราฮัม อิสอัค และยาโคบคือ ผู้เป็น
       พระองค์ทรงเป็นอาจารย์ท่านแรกที่นำข้อความจากหนังสือปัญจบรรพมาอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ว่าอับราฮัม อิสอัค และยาโคบได้กลับคืนชีพจากความตายแล้ว
       พวกฟาริสีคงนึกชื่นชมพระองค์อยู่ในใจที่ทรงสามารถทำให้ปรปักษ์ทางความคิดอย่างพวกสะดูสี นิ่งอึ้งไป (มธ 22:34)
       แต่ความชื่นชมนี้ก็ไม่อาจหยุดยั้งความประสงค์ร้ายของพวกเขาได้  พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางจับผิดพระองค์อีก
      คราวนี้พวกเขาส่งบัณฑิตทางกฎหมายมาถามพระองค์ว่า พระอาจารย์ บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ (มธ 22:36)
       พวกเขาถกเถียงกันว่าในบรรดาธรรมบัญญัติที่โมเสสรับจากพระเจ้าบนภูเขาซีนัย และรับบีชัมมัย (Shammai) สอนว่ามี 613 ข้อนั้น ข้อใดสำคัญที่สุด ?
       บางคนยืนยันว่าการสวมพู่ห้อยที่ชายเสื้อสำคัญที่สุดเพราะ เมื่อเห็นพู่ห้อย ท่านจะระลึกถึงบทบัญญัติของพระยาเวห์และจะปฏิบัติตาม ท่านจะไม่หันเหจากเราไปทำตามอำเภอใจและตามความปรารถนาของท่าน ซึ่งจะชักนำท่านให้ทรยศต่อเรา (กดว 15:39) !
       พวกเขาหวังว่าหากดึงพระองค์เข้ามาร่วมวงถกเถียงด้วย บางทีพระองค์อาจเสียทีเสนอทฤษฎีที่ผิดพลาด  พวกเขาจะได้กล่าวหาฟ้องร้องพระองค์ฐานหมิ่นประมาทศาสนาได้
       แม้จะประสงค์ร้าย แต่ต้องยอมรับว่าคำถามของพวกเขาได้นำไปสู่คำจำกัดความของ ศาสนา ที่สมบูรณ์แบบ
       สำหรับพระเยซูเจ้า ศาสนาแท้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ
       1.    รักพระเจ้า  องค์ประกอบนี้พระองค์ทรงนำมาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 6 ข้อที่ 5 ซึ่งระบุว่า ท่านจะต้องรักพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน สุดจิตใจ สุดวิญญาณ และสุดกำลังของท่าน
              ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ เชมา (Shema แปลว่า จงฟัง) ซึ่งประกอบด้วยพระคัมภีร์ 3 ตอนสั้นๆ (ฉธบ 6:4–9; 11:13–21; กดว 15:37–41) อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของความเชื่อในศาสนายิว  ชาวยิวอ่าน เชมา ก่อนเริ่มพิธีในศาลาธรรม ดุจเดียวกับเราทำสำคัญมหากางเขนก่อนเริ่มพิธีกรรม  นอกจากนี้พวกเขายังสวด เชมา ทุกเช้าเย็นจนเด็กยิวทุกคนท่องจำได้เป็นอันดับแรก
              พระองค์ทรงนำสิ่งที่เป็นแก่นสำคัญของศาสนายิวมาดัดแปลงจาก สุดกำลัง เป็น สุดสติปัญญา (มธ 22:37) เพื่อเตือนสติพวกฟาริสีให้ลดละการใช้สติปัญญาเพื่อคิดค้นหรือประดิษฐ์กฎระเบียบใหม่ๆ จากธรรมบัญญัติของโมเสส...
              ...สู้เอาสติปัญญามาคิดรักพระเจ้าไม่ได้ !!
              สำหรับพระองค์ สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องทุ่มเทสุดจิตใจ สุดวิญญาณ และสุดสติปัญญา คือ รักพระเจ้า
              เราต้องทุ่มเท ความรักทั้งหมด แด่พระเจ้า...
        - ความรักที่มีอำนาจเหนืออารมณ์และความรู้สึกของเรา (สุดจิตใจและ สุดวิญญาณ)
        - ความรักที่นำทางความคิดและทัศนคติของเรา (สุดสติปัญญา)
        - ความรักที่เป็นพลังขับเคลื่อนการกระทำทั้งปวงของเรา (สุดกำลัง)
       ความรักที่ทำให้เรามอบถวายชีวิตของเราแด่พระเจ้านี้เอง ที่พระองค์ตรัสว่า นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก (มธ 22:38)
       แปลว่า การรักพระเจ้า นอกจากจะสำคัญที่สุดเพราะเป็นบัญญัติเอกแล้ว ยังต้องมาก่อนบทบัญญัติอื่นใดทั้งสิ้นอีกด้วย !
2.    รักเพื่อนมนุษย์  องค์ประกอบที่สองพระองค์ทรงนำมาจากหนังสือเลวีนิติบทที่ 19 ข้อที่ 18 จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
       พระองค์ทรงเปลี่ยน เพื่อนบ้าน ซึ่งจำกัดวงอยู่เฉพาะชาวยิวให้เป็น เพื่อนมนุษย์
       เราต้องรักเพื่อนมนุษย์เพราะความรักต่อพระเจ้าจะแสดงออกได้ก็โดยการรักเพื่อนมนุษย์เท่านั้น  นักบุญยอห์นจึงกล่าวว่า    ถ้าผู้ใดพูดว่า ฉันรักพระเจ้า แต่เกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นย่อมเป็นคนพูดเท็จ เพราะผู้ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้ ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้ (1 ยน 4:20)
       ขอย้ำอีกครั้งว่าความรักต่อพระเจ้าต้องมาก่อน จึงจะรักเพื่อนมนุษย์ได้ !
       เหตุผลคือ มนุษย์ถูกสร้างมาตามฉายาของพระเจ้า (ปฐก 1:26, 27) หากไม่รักพระเจ้า เราจะรักมนุษย์ผู้เป็นฉายาของพระองค์ได้อย่างไร ?
       ความรักต่อพระเจ้าจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความรักต่อเพื่อนมนุษย์ !
       พระเยซูเจ้าจึงเป็นอาจารย์ท่านแรกที่นำ ความรักต่อพระเจ้า และ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ มาเชื่อมสัมพันธ์กัน
       ก่อนหน้านี้ พวกฟาริสีรู้จักแต่ รักพระเจ้า และ รักบทบัญญัติ
               
เมื่อ รักเพื่อนมนุษย์  เราจึงเคารพและยอมรับทั้งสิทธิและหน้าที่ของ  ผู้อื่นได้
เมื่อสิทธิและหน้าที่ได้รับการยอมรับ ประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นได้
เมื่อมีประชาธิปไตย การตรากฎหมายตามความต้องการของคนส่วนใหญ่จึงเป็นไปได้
ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์จึงเป็นพื้นฐานของกฎหมายอื่นๆ     ทั้งมวล
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้ (มธ 22:40)
เพราะฉะนั้น หากไม่รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ทุกกิจกรรมย่อมขาดพื้นฐานและเป็นได้ก็เพียงการสร้างภาพเท่านั้น !
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.           วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2011  มิสซาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ เวลา 18.00 น.
2.     ส่งศีลศุกร์ต้นเดือน  วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2011
3.         มิสซาศุกร์ต้นเดือน  วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2011 
     เวลา 18.00 น.  ตั้งศีลฯ, อวยพรศีลฯ และต่อด้วยมิสซา
4.          วันอาทิตย์ หลังรับศีลฯ ทุกมิสซา :
พิธีกร ก่อ 1)  บทภาวนาของสมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อกระแสเรียก
2)   สวดบทภาวนาเพื่อขอพระพร สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว       
5. แห่แม่พระ  วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2011  หลังมิสซา 18.00 น.
6.  ฉลองวัด
1)  วัดอัครเทวดาราฟาแอล ปากน้ำ วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2011 เวลา 10.30 น. (ประธาน : พระสังฆราช ยอแซฟ พิบูลย์  วิสิฐนนทชัย)
2) วัดนักบุญลูกา อ่างทอง วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2011  เวลา 10.30 น.
3) วัดราชินีแห่งสันติสุข สุขุมวิท 101  วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2011  เวลา 10.00 น. (ประธาน : พระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์)
4) วัดอัสสัมชัญ พัทยา เปิดและเสกวัดใหม่ วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2011 เวลา 10.30 น.  (ประธาน : พระสังฆราช ซิลวีโอ สิริพงษ์  จรัสศรี )
7. ประชุมผู้สูงอายุ วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2011  เวลา 9.00 น.
หลังจากประชุมมีพิธีมิสซาสำหรับผู้อายุ เวลาประมาณ 10.30 น.
โดยคุณพ่อชุมภา  คูรัตน์
8. ระลึกถึงในคำภาวนา
1)  เปโตร สมัย ชินะผา ครบ 4 ปี  (8 พ.ย.)
2)  เซซีลีอา ผัน ศรีประเสริฐ ครบ 1 ปี  (15 พ.ย.)
    ยอแซฟ แจง  ศรีประเสริฐ ครบ 5 ปี  (13 ต.ค.) 
9. อบรมผู้นำวิถีชุมชนวัด เขต 2 ครั้งที่ 2 จากเดิมกำหนดไว้วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2011 ณ วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ คลองจั่น ขอเลื่อนไปไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการ์ณน้ำท่วม
10. เสกสุสานศานติคาม วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2011
      รอบเช้า    เวลา 09.00 น.  
                   โดยคุณพ่อสุรสิทธิ์   ชุ่มศรีพันธ์   เป็นประธาน
      รอบเย็น   เวลา 16.30 น.     
                   โดยคุณพ่ออดิศักดิ์  สมแสงสรวง เป็นประธาน

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2011

อาทิตย์ที่ 29  เทศกาลธรรมดา
( วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2011 )


รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 22:15-21
(15)ครั้งนั้น ชาวฟาริสีปรึกษากันเพื่อจับผิดพระวาจาของพระเยซูเจ้า  (16)จึงส่งศิษย์ของตนพร้อมกับคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรดมาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง โดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร  (17) ดังนั้น โปรดบอกเราเถิดว่า ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์เป็นการถูกต้องหรือไม่  (18)พระเยซูเจ้าทรงหยั่งรู้เจตนาร้ายของเขา จึงตรัสว่า พวกคนเจ้าเล่ห์ เจ้ามาทดลองเราทำไม (19)จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง เขาก็นำเงินเหรียญมาถวาย  (20)พระองค์จึงตรัสถามว่า รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร  (21)เขาตอบว่า เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์ พระองค์จึงตรัสว่า ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด
ที่ผ่านมา พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิวหลายครั้ง  ในอุปมาเรื่องบุตรสองคน พวกเขาถูกเปรียบเป็นบุตรคนที่พูดว่า ครับพ่อ แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามความประสงค์ของบิดา (มธ 21:30)  ในอุปมาเรื่องคนเช่าสวน พวกเขาถูกเปรียบเป็นคนเช่าสวนชั่วร้าย (มธ 21:33-46)  และล่าสุดในอุปมาเรื่องงานวิวาหมงคล พวกเขาถูกเปรียบเป็นแขกซึ่งปฏิเสธคำเชิญจนกษัตริย์ต้องส่งกองทัพมาทำลายและเผาเมืองจนราบคาบ (มธ 22:1-14)
ครั้งนี้ถึงคราวพวกเขา เอาคืน บ้าง !
พวกเขามุ่งมั่นและจริงจังในการ เอาคืน พระองค์จนกระทั่งยอมร่วมมือกับ คนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรด (มธ 22:16) ซึ่งปกติแล้วพวกเขายืนอยู่ตรงข้ามกันคนละขั้วเลยทีเดียว
ฟาริสีเป็นผู้นำทางศาสนาของชาวยิวที่เคร่งครัดมาก  พวกเขายอมรับพระเจ้าเป็นกษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว การเสียภาษีให้ซีซาร์เท่ากับยอมรับซีซาร์เป็นกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของพระเจ้าอย่างร้ายแรง
ส่วนเฮโรดนั้นได้รับการแต่งตั้งจากซีซาร์ให้เป็นกษัตริย์แห่งกาลิลี  เฮโรดและคนที่เป็นฝ่ายเดียวกับพระองค์จึงร่วมมือกับซีซาร์และโรมอย่างใกล้ชิด ถึงกับยอมช่วยโรมเก็บภาษีจากชาวยิวด้วยกันเอง
พวกที่เป็นฝ่ายเดียวกับเฮโรดจึงถูกตราหน้าว่า ขายชาติ !
กระนั้นก็ตาม พวกเขายอมมองข้ามความแตกต่างและความเกลียดชังระหว่างกัน แล้วสมานฉันท์กันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันแรงกล้าร่วมกัน  นั่นคือกำจัดพระเยซูเจ้าให้พ้นไปจากหนทางของพวกเขา
พวกเขาวางแผนกำจัดพระองค์อย่างแยบยลด้วยการตั้งคำถามในที่สาธารณะต่อหน้าผู้คนมากมาย โดยหวังจะลดความน่าเชื่อถือของพระองค์อาศัยคำตอบจากปากของพระองค์เอง
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คำถามของพวกเขายังเป็น คำถามพิฆาต อีกด้วย !
ที่ว่าเป็นคำถามพิฆาตก็เพราะผู้ถามต้องการคำตอบเพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่ และไม่ว่าผู้ตอบจะตอบอย่างไรก็ไม่มีทางรอดพ้นจากความผิดไปได้
ตัวอย่างเช่น คุณเลิกตบตีภรรยาแล้วใช่ไหม ?
หากตอบ ใช่ ก็แปลว่าคุณเคยตบตีภรรยามาก่อน
หากตอบ ไม่ใช่ ก็แปลว่าคุณยังตบตีภรรยาอยู่
พวกเขาเริ่มต้น เอาคืน ด้วยการพูดดีแต่เจตนาร้ายว่า พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง โดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร (มธ 22:16)
หลังจากประจบประแจงแล้ว พวกเขายิงคำถามพิฆาตใส่พระองค์ทันที ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์เป็นการถูกต้องหรือไม่ (มธ 22:17)
ภาษี คือปัญหาคาใจที่สุดของชาวยิว เพราะนอกจากจะไม่ชอบเสียภาษีเหมือนๆ กับคนทุกชาติแล้ว การเสียภาษียังขัดกับความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ยอมรับผู้ใดเป็นกษัตริย์นอกจากพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว  ยิ่งพวกคลั่งชาติอย่างเช่นซีมอนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกด้วยแล้ว พวกเขายิ่งไม่ยอมเสียภาษีให้กษัตริย์ต่างชาติเป็นอันขาด
แม้ไม่ต้องการเสียภาษี แต่ข้อเท็จจริงก็คือชนชาติยิวตกเป็นเมืองขึ้นของโรมและได้รับการปกป้องคุ้มครองจากโรม  โรมจึงถือสิทธิเรียกเก็บภาษีจากชาวยิว 3 ประเภทด้วยกัน คือ
              1.    ภาษีที่ดิน  เก็บอัตราร้อยละสิบของผลผลิตจำพวกข้าว และร้อยละยี่สิบของผลผลิตจำพวกน้ำมันและเหล้าองุ่น
2.    ภาษีรายได้  เก็บอัตราร้อยละหนึ่ง
       3.    ภาษีรัชชูปการ  เพราะชาวยิวได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร โรมจึงเรียกเก็บภาษีรัชชูปการจากชายอายุ 14 65 ปีและหญิงอายุ 12 - 65 ปี ในอัตราหนึ่งเดนารีอุสต่อคนต่อปี (เทียบเท่าค่าแรงงานขั้นต่ำ 1.25 วัน)
ภาษีที่พวกเขาถามพระเยซูเจ้าคือภาษีรัชชูปการนี้เอง
คำถามนี้แหลมคมและเป็นคำถามพิฆาตจริงๆ !
หากพระองค์ตอบว่าไม่ต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์ พวกเขาก็จะฟ้องโรม แล้วพระองค์ก็จะถูกจับกุมข้อหายุยงประชาชนให้ก่อการกบฏทันที
ตรงกันข้าม หากพระองค์ตอบว่าต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์  ชาวยิวก็จะตราหน้าพระองค์ว่าทรยศต่อพระเจ้า เป็นคนขายชาติ  แล้วเลิกติดตามพระองค์
ไม่ว่าพระองค์จะตอบประการใด ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและภารกิจของพระองค์ทั้งสิ้น
ด้วยทรงหยั่งรู้เจตนาร้ายของพวกเขา พระองค์จึงตรัสว่า พวกคนเจ้าเล่ห์ เจ้ามาทดลองเราทำไม  จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง (มธ 22:18-19)
สมัยก่อน เหรียญเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นกษัตริย์  ทันทีที่กษัตริย์ขึ้นครองราชย์พระองค์จะผลิตเหรียญที่มีรูปและคำจารึกของพระองค์เองขึ้นมา และถือกันว่าเหรียญเหล่านี้เป็นสมบัติของผู้ที่มีรูปอยู่บนเหรียญ
เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร  พวกเขาตอบว่า เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์ (มธ 22:19-20)
พระองค์จึงตรัสว่า ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด (มธ 22:20)
นี่คือสุดยอดปรีชาญาณของพระองค์ เพราะแทนที่จะตอบเป็น กฎ ซึ่งล้าสมัยได้เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป พระองค์กลับตอบเป็น หลักการ ซึ่งไม่ขึ้นกับเวลาและไม่มีวันล้าสมัย
หลักการของพระองค์คือ ของของใคร จงคืนให้คนคนนั้น !!
จากหลักการดังกล่าว เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ สัญชาติ ซึ่งคริสตชนทุกคนต้องมีอย่างน้อย 2 สัญชาติด้วยกัน
สำหรับคริสตชนไทย สัญชาติทั้งสองคือ
1.    สัญชาติไทย  เมื่อถือสัญชาติไทย เราย่อมเป็นพลเมืองไทยซึ่งต้องมีทั้งสิทธิและหน้าที่ควบคู่กันไป
       รัฐไทยได้ให้ความร่มเย็นเป็นสุขและความมั่นคงปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายและภัยคุกคามจากต่างประเทศ  ตลอดจนจัดให้มีบริการสาธารณะดังเช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ  หากขาดเสียซึ่งรัฐไทยเราคงดำรงชีพด้วยความยากลำบาก หรืออาจไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป
              เมื่อรัฐไทยมีบุญคุณต่อเราเช่นนี้ เราจึงต้องตอบแทนบุญคุณด้วยการทำหน้าที่พลเมืองไทยอย่างดีและอย่างรับผิดชอบ ดุจเดียวกับซีซาร์ซึ่งปกป้องคุ้มครองชนชาติยิว ชาวยิวจึงต้องตอบแทนบุญคุณซีซาร์ด้วยการเสียภาษี
       นักบุญเปาโลจึงสอนว่า ท่านจงเสียภาษี เพราะผู้ทำหน้าที่นี้เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า จงให้ทุกคนตามสิทธิของเขา จงเสียภาษีแก่ผู้มีสิทธิรับภาษี จงเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิเก็บค่าธรรมเนียม จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้สมควรจะได้รับเกียรติ (รม 13:6-7)
       เมื่อรวมกับหลักการของพระเยซูเจ้าที่ว่า ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์  เราจึงฟันธงได้ว่า ผู้ใดพลาดจากการเป็นพลเมืองดี ผู้นั้นไม่มีทางเป็นคริสตชนที่ดีได้เลย !
2.    สัญชาติสวรรค์  เราได้สัญชาตินี้จากพระเจ้า ดังนั้นคริสตชนทุกคนจึงมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า เราแต่ละคนต่างจะต้องทูลรายงานเกี่ยวกับตนเองต่อพระเจ้า ด้วย (รม 14:12)
ปกติหน้าที่อันเนื่องมาจากการถือ 2 สัญชาติจะไม่ขัดแย้งกัน และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันด้วยเพราะว่า ไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า และอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ก็ได้รับจากพระเจ้าทั้งสิ้น (รม 13:1)
ในเมื่อผู้ปกครองประเทศได้รับอำนาจมาจากพระเจ้า การเลือกผู้ปกครองจึงต้องคำนึงถึงนโยบายที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นอันดับแรก ไม่ใช่มัวคิดคำนึงถึงจำนวนเงินหรือผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ
หากเกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติตามหน้าที่ของทั้งสองสัญชาติ เช่น กฎหมายบัญญัติสิ่งที่ขัดกับหลักศีลธรรมคริสต์ ให้ยึดหลักการของพระเยซูเจ้าที่ว่า คริสตชนที่แท้จริงต้องเป็นพลเมืองดีของชาติ และในเวลาเดียวกันต้องเป็นพลเมืองดีของอาณาจักรสวรรค์ด้วย !
เราไม่อาจละเลยหน้าที่ทั้งต่อพระเจ้าและต่อประเทศชาติ ดังคำสอนของนักบุญเปโตรที่ว่า จงเคารพยำเกรงพระเจ้า จงถวายพระเกียรติแด่พระจักรพรรดิ (1 ปต 2:17)
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)