วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2011

สมโภชพระตรีเอกภาพ
 ( วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2011 )
รำพึงพระวาจา

พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   ยอห์น 3:16-18
(16)พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร (17)เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้ มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น (18)ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้วเพราะเขามิได้มีความเชื่อในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า


1. กำเนิดพระตรีเอกภาพ
       ในบท ข้าพเจ้าเชื่อ ของสภาสังคายนานีเชอาได้กล่าวถึงกำเนิดของพระบุตรไว้ ว่า ทรงบังเกิดจากพระบิดา  ในขณะที่พระจิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร
       นักบุญโธมัส อะไควนัส อธิบายความแตกต่างระหว่าง บังเกิด และ เนื่อง ไว้ดังนี้
       1.    พระเจ้าทรงมีสติปัญญาสำหรับคิด และน้ำใจสำหรับรัก
       2.    สิ่งที่พระเจ้าทรงคิดตั้งแต่นิรันดรคือ ตัวพระองค์เอง
       3.    เมื่อทรงคิด ย่อมก่อให้เกิดตัวแทน ของสิ่งที่ทรงคิด (เช่น เวลาเราคิดถึงมนุษย์ต่างดาว เรากำลังก่อให้เกิดตัวแทนหรือ มโนภาพ ของมนุษย์ต่างดาวขึ้นในความคิดของเรา)
       4.    เนื่องจากพระเจ้าทรงไม่มีขอบเขต ความคิดของพระองค์ย่อมไม่มีขอบเขต นั่นคือทรงคิด ครั้งเดียว ก็ครบครันและครอบคลุมทุกสิ่ง  อีกทั้ง ตัวแทน ของสิ่งที่ เกิด จากความคิดของพระองค์ก็ย่อมไม่มีขอบเขตไปด้วย  พระคัมภีร์เรียก ตัวแทน ที่เกิดจากความคิดนี้ว่า ภาพที่แลเห็นได้ของพระเจ้าที่แลเห็นไม่ได้, พระวจนาตถ์, พระปรีชาญาณ ฯลฯ
       5.    เพราะความคิดของพระเจ้าก่อให้เกิดพระวจนาตถ์  ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับพระวจนาตถ์จึงได้แก่ พ่อ-ลูก หรือ พระบิดาและพระบุตร
       จากภาษาเชิงเปรียบเทียบเหล่านี้ จึงนำมาสู่การยืนยันว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเป็นเจ้า  ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกัปก่อนกัลป์  เป็นพระเป็นเจ้าจากพระเป็นเจ้า  เป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง  เป็นพระเป็นเจ้าแท้จากพระเป็นเจ้าแท้  มิได้ถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา….”
       ดังได้กล่าวแล้วว่า พระเจ้าทรงมีสติปัญญาสำหรับคิด และน้ำใจสำหรับรัก
       1.    ตั้งแต่นิรันดร พระบิดาทรงรักพระบุตรอย่างไม่มีขอบเขต
       2.    แต่ความรักของพระบิดาไม่ได้ก่อให้เกิดมโนภาพของพระบุตรผู้เป็นที่รัก เพียงแต่โน้มน้าวให้ทั้งพระบิดาและพระบุตรมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน
       3.    ความรักซึ่งไม่มีขอบเขตของพระบิดาจึงไม่ได้เกิดจากพระบิดา แต่ เนื่อง มาจากพระบิดาและพระบุตรทรงรักกันและกัน
       4.    ความรักอันเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตรนี้ เป็นผลงานของ น้ำใจ หรือ จิตใจ ของพระเจ้า จึงได้รับพระนามว่า พระจิต
       เราจึงยืนยันว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระจิตทรงเป็นพระเป็นเจ้าผู้บันดาลชีวิต  ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร  ทรงรับสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร  พระองค์ดำรัสทางประกาศก
นักเทววิทยามักยกคุณสมบัติให้แต่ละพระบุคคลแตกต่างกันไปทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ทั้งสามพระบุคคลต่างมีคุณสมบัติทั้งหมดร่วมกัน
       สิ่งที่นักเทววิทยายกให้เป็นคุณสมบัติของพระบิดาคือทรงสรรพานุภาพ และผลงานที่เด่นชัดคือการเนรมิตสร้างโลก
       ปรีชาญาณและผลงานทั้งหมดของปรีชาญาณคือคุณสมบัติของพระบุตร เพราะว่าพระองค์ทรงบังเกิดจากสติปัญญาของพระบิดา
       ส่วนคุณสมบัติของพระจิต ผู้ทรงเนื่องมาจากความรักของพระบิดาและพระบุตร คือความรักและความดี  และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว พระจิตเจ้าทรงประทานพระพรสองประเภทใหญ่ๆ คือ
       1.    พระคุณเจ็ดประการเพื่อทำให้แต่ละคนศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยปรีชาญาณ ความเข้าใจ คำแนะนำ ความกล้าหาญ ความรู้ ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า
       2.    พระคุณพิเศษ (Charismata) ที่ทรงประทานแก่บางคนเพื่อความดีของส่วนรวม
2. พระเจ้าทรงรักโลก
       สำหรับผู้ที่มีพระเจ้าอยู่ในหัวใจ นี่คือสาระสำคัญของข่าวดี
       ที่ว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะพระเยซูเจ้าทรงเผยความจริงว่า พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร (ยน 3:16)
       ความจริงข้อนี้ทำให้เราทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระบิดา และบทบาทของพระองค์ใน พระตรีเอกภาพ ชนิดที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน นั่นคือ
       1.    พระบิดาคือผู้ริเริ่มแผนการแห่งความรอด
              หลายครั้ง ศาสนาของเราได้รับการนำเสนอราวกับว่า อับราฮัม โมเสส หรือบรรดาประกาศกต้องคอยทำให้พระบิดาทรงสงบสติอารมณ์ หรือต้องคอยชักนำพระองค์ให้ทรงยกโทษชาวอิสราเอลบ่อยครั้ง
              บางคนพูดถึงพระบิดาว่าทรงเป็นพระเจ้าที่น่าเกรงขาม โกรธง่าย และชอบจดจำความผิด  ส่วนความอ่อนโยน ความรัก และการให้อภัยนั้นเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพระบุตร  ยิ่งไปกว่านั้นบางคนถึงกับพูดว่าเป็นพระบุตรนั่นเองที่ทรงเปลี่ยนทัศนคติของพระบิดาจากชอบลงโทษมาเป็นให้อภัยมนุษย์
              แต่วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงฟันธงว่า พระบิดาคือผู้เริ่มต้นแผนการแห่งความรอด พระองค์คือผู้ที่ ประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ ลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์
              พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้เพราะ ทรงรักโลกอย่างมาก
              ความรัก คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแผนการแห่งความรอด
              ความรัก คือสิ่งที่ทำให้พระบิดา พระบุตร และพระจิตเป็น พระตรีเอกภาพ นั่นคือ มีสามพระบุคคล แต่เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว
       2.    ธาตุแท้ของพระเจ้าคือความรัก
              เป็นการง่ายมากที่เราจะคิดและเชื่อว่า พระเจ้าทรงเฝ้าคอยจับผิดมนุษย์ที่เลินเล่อ ไม่เชื่อฟัง หรือทรยศพระองค์ แล้วทรงลงโทษเฆี่ยนตีเพื่อให้เขาหันกลับมาหาพระองค์
              และเป็นการง่ายอีกเช่นกันที่จะคิดว่า พระเจ้าทรงเรียกร้องให้มนุษย์สามิภักดิ์และจงรักภักดีต่อพระองค์ และให้ทั่วพิภพยอมจำนนต่อพระองค์ เพียงเพราะต้องการอวดศักดาบารมีของพระองค์เอง
              แต่พระเยซูเจ้าทรงตรัสชัดถ้อยชัดคำว่า พระเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งเพื่อมนุษย์จะ ไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร (ยน 3:16)
              นั่นคือพระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งมิใช่เพื่ออวดศักดาหรือทำให้โลกสยบอยู่แทบพระบาทของพระองค์ แต่เพื่อให้เรามนุษย์มีชีวิตนิรันดรเหมือนพระองค์
              พระองค์จะไม่มีวันมีความสุขจนกว่าบรรดาลูกๆ อย่างเราจะกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย
              ทั้งนี้เพราะธาตุแท้ของพระเจ้าคือ ความรัก !
       3.    สิ่งที่พระเจ้าทรงรักคือโลก
              พระวาจานี้บ่งบอกถึงความกว้าง ความยาว และความลึกแห่งความรักของพระตรีเอกภาพว่ายิ่งใหญ่เพียงใด
              พระเจ้าไม่ได้ทรงรักเฉพาะชาวยิว เฉพาะคนดี หรือเฉพาะผู้ที่รักพระองค์
              พระองค์ทรงรักคนทั้งโลก !
              แม้แต่ผู้ที่น่ารังเกียจ หรือโดดเดี่ยวไร้คนเหลียวแล ล้วนรวมอยู่ในความรักอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระเจ้าโดยไม่เว้นใครเลย ดังที่นักบุญเอากุสตินกล่าวไว้ว่า พระเจ้าทรงรักเราแต่ละคนราวกับว่ามีเราเพียงคนเดียวให้พระองค์รัก
3. ผู้ที่ไม่มีความเชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ
       เราพึ่งได้ยินว่า พระเจ้าทรงรักโลกมากจนประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์แก่มนุษย์ แล้วอีกสองบรรทัดต่อมายอห์นกลับพูดว่า ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษ (ยน 3:18)  ยิ่งไปกว่านั้น พระเยซูเจ้าเองยังตรัสว่า เรามาในโลกนี้เพื่อพิพากษา (ยน 9:39)
        ปัญหาคือ พระเจ้าทรงรักและตัดสินลงโทษมนุษย์ในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ?
       เราสามารถอธิบายได้ดังนี้
       สมมุติว่าเรารักและคลั่งไคล้ดนตรีคลาสสิกมาก  เมื่อมีวงออแคสตราจากต่างประเทศเดินทางมาเปิดการแสดงในเมืองไทย เราอุตสาห์เก็บเงินนับหมื่นบาทเพื่อซื้อบัตรเข้าชมการแสดงสำหรับตนเองหนึ่งใบและสำหรับคนรักของเราอีกหนึ่งใบ โดยคิดว่าคนรักของเราต้องชอบและมีความสุขอย่างแน่นอน  แต่เมื่อการแสดงเริ่มไปได้สัก 10 นาที คนรักของเราเริ่มออกอาการหงุดหงิดและเบื่อหน่ายอย่างเห็นได้ชัด
       จะเห็นว่าความรักของเรากลายเป็นการตัดสินคนรักของเราไปแล้ว
       และคนตัดสินย่อมไม่ใช่ตัวเราที่รักเขามากแน่ๆ  แต่เป็นคนรักของเรานั่นเองที่ตัดสินตัวเองว่าเป็นผู้ไม่มีดนตรีอยู่ในหัวใจ !
       ปฏิกิริยาของคนรักที่มีต่อดนตรีคือการตัดสินตนเอง
       พระเยซูเจ้าทรงเปรียบได้กับวงดนตรี  พระบิดาทรงส่งพระองค์มาด้วยความรักเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดและมีชีวิตนิรันดร  เมื่อเผชิญหน้ากับพระองค์แล้วเราเชื่อ วางใจ และรักพระองค์ เรากำลังตัดสินตัวเองให้อยู่ในหนทางแห่งความรอด
       ตรงกันข้ามเมื่อเผชิญหน้ากับพระองค์แล้วเรารู้สึกเฉยๆ เย็นชา ซ้ำร้ายบางคนยังรู้สึกว่าพระองค์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของตนมากเกินไป หากพระองค์ถอยไปห่างๆ หน่อยก็จะดี  ถ้าปฏิกิริยาของเราเป็นดังนี้ เรานั่นแหละกำลังตัดสินลงโทษตัวเอง
       พระตรีเอกภาพทรงมี ความรัก เป็นธาตุแท้  เป็นเรานั่นเองที่ตัดสินลงโทษตัวเอง !
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.   วันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. 2011  สมโภชพระวรกายและ
พระโลหิตพระคริสตเจ้า  แห่ศีลมหาสนิท มิสซา 9.00 น.
2.         เขต 2 จัด สัมมนาชีวิตคริสตชน ณ วัดเซนต์จอห์น จัด 3 วัน   เฉพาะวันเสาร์ เวลา 8.00-17.00 น.  คุณพ่อยอห์น ตามาโย  วิทยากร
เสาร์ที่ 2 ก.ค. 2011       :    ความจริงพื้นฐานของคริสตศาสนา
เสาร์ที่ 9 ก.ค. 2011       :    ชีวิตจิตของคริสตชน
เสาร์ที่ 16 ก.ค. 2011      :    ชีวิตในพระจิตเจ้า
     ดูตารางการสัมมนาได้ที่บอร์ดหน้าวัด และลงชื่อได้ที่สภาอภิบาล  ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. 2011

3.  คำสอนเด็ก-ผู้ใหญ่ วันอาทิตย์ เริ่มเรียนวันอาทิตย์ที่ 19 มิ.ย. 2011 เวลา 10.30-12.00 น.  สำหรับคำสอนผู้ใหญ่วันธรรมดา เรียนวันอังคารและศุกร์ เวลา 18.00 น.
4.   ยอดเงินบริจาค รณรงค์มหาพรต อา.ที่ 12 มิ.ย. จำนวน 582 บาท
5.  ประกาศแต่งงาน   ฝ่ายชาย   นายคึกฤทธิ์ อนุพงศ์  บุตรนายชัยวุฒิ  และนางณัฐสุรางค์ อนุพงศ์  ฝ่ายหญิง  เทเรซา จันทรานุช นิลพฤกษ์  บุตรี ยวงบัปติสตา สมโภชน์ และ มารีอา ทัศนีย์ นิลพฤกษ์    สมรสวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. 2011 เวลา 14.00 น.  ถ้าผู้ใดทราบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีข้อขัดขวางมิให้สมรสได้ ต้องแจ้งให้พระสงฆ์เจ้าอาวาสทราบ
6.  อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จัดอบรมโครงการพัฒนาผู้นำวิถีชุมชนวัด ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2011 ณ บ้านผู้หว่าน (ดูตารางเวลาได้ที่บอร์ดหน้าวัด)  สนใจติดต่อได้ที่สภาอภิบาล
7.    “St Peter’s Pence”  เงินถุงทานในวันสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล  3 ก.ค. 2011  มอบถวายสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อทรงใช้ตามพระ-  ราชประสงค์ ในการเสด็จเยี่ยมเยียน เดินทาง พบปะ และช่วยเหลือตามพระราชอัธยาศัย

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2011

สมโภชพระจิตเจ้า
 ( วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2011 )
รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   ยอห์น 20:19-23

(19)ค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด   (20)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์  พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี  (21)พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น
(22)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า จงรับพระจิตเจ้าเถิด  (23)ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย

1. พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น
      หลังจากพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขน บรรดาอัครสาวกหวนกลับมาหลบซ่อนอยู่ในห้องที่เคยใช้เลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายด้วยความหวาดกลัว คอยเงี่ยหูฟังเสียงคนขึ้นบันไดหรือเคาะประตู เกรงว่าเจ้าหน้าที่ของสภาสูงจะมาจับกุม และคงไม่แคล้วถูกตัดสินประหารชีวิตให้ตายตกตามพระอาจารย์ไป
ทันใดนั้น ทั้งๆ ที่ประตูห้องยังปิดอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จมาประทับยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขาตรัสว่า สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด (ยน 20:19)
คำ สันติสุข หรือ shalōm (ชาโลม) ในภาษาฮีบรู ไม่ได้หมายถึงเพียง พ้นทุกข์ แต่หมายรวมถึง การบรรลุความดีและความสมบูรณ์สูงสุด ด้วย
พระองค์จึงไม่เพียงวอนขอให้บรรดาอัครสาวกรอดพ้นจากการถูกจับกุมเท่านั้น แต่ทรงวอนขอพระบิดาเจ้าโปรดประทานสิ่งที่ ดีที่สุด แก่พวกเขาด้วย
หลังจากประทานพรและให้บรรดาอัครสาวกดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกายจนพวกเขาเชื่อว่าทรงเป็น องค์พระผู้เป็นเจ้า แล้ว (ยน 19:20) พระองค์ทรงเข้าสู่ประเด็นสำคัญทันที นั่นคือทรงตรัสสั่งว่า พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น (ยน 20:21)
คำสั่งนี้แฝงนัยสำคัญ 3 ประการ คือ
      1.    พระเยซูเจ้าทรงต้องการพระศาสนจักร เพราะเมื่อเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว พระองค์ทรงต้องการให้พระศาสนจักรเป็นดั่งปาก มือ และเท้าของพระองค์เพื่อนำข่าวดีไปสู่มนุษย์ทุกคน โดยไม่เลือกชาติ ศาสนา เพศ วัย หรือฐานะ
           พระศาสนจักรจึงเป็นดั่ง พระวรกาย ของพระองค์ โดยมีพระองค์ทรงเป็น ศีรษะ (อฟ 1:23; 1คร 12:12)
      2.    พระศาสนจักรต้องการพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์คือ ผู้ส่ง พระศาสนจักรออกไป เหมือนดังที่พระบิดาทรงส่งพระองค์มา
           นอกจากเป็น ผู้ส่ง แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้มอบข่าวดี ผู้สนับสนุน ผู้ส่องสว่างจิตใจ และผู้ประทานพละกำลังและความกล้าหาญในการปฏิบัติภารกิจของพระศาสนจักร
            หากปราศจาก ผู้ส่ง ดังเช่นพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่มีข่าวดีจะประกาศ และย่อมไม่มีอำนาจอันใดเลยที่จะอภัยบาปแก่มนุษย์
      3.    พระศาสนจักรต้องนบนอบพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ตรัสว่า พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น (ยน 20:21)
            พระบิดาทรงส่งพระองค์มาประกาศข่าวดีและไถ่บาปมนุษย์  พระองค์ทรงน้อมรับภารกิจดังกล่าวด้วยความรักและความนบนอบเชื่อฟังสูงสุดจนถึงกับยอมสิ้นพระชนม์ แม้เป็นการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
           เช่นเดียวกัน พระศาสนจักรจะปฏิบัติภารกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงได้ก็โดยอาศัย ความรักและการนบนอบเชื่อฟังพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ เท่านั้น
           ความรักและความนบนอบนี้เอง เรียกร้องให้พระศาสนจักรประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ข่าวดีของพระศาสนจักร  อีกทั้งต้องพร้อมเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามพระประสงค์ของพระองค์ ไม่ใช่ตามนโยบายหรือตามความนึกคิดประสามนุษย์ของพระศาสนจักรเอง
      หากยึดพระประสงค์ของพระองค์เป็นที่ตั้งดังนี้แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าพระศาสนจักรก็จะคลี่คลายลง

2. จงรับพระจิตเจ้าเถิด
นอกจากส่งบรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของ พระวรกายของพระคริสตเจ้า ไปประกาศข่าวดีแล้ว พระองค์ยังทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลายตรัสว่า จงรับพระจิตเจ้าเถิด (ยน 20:22)
เมื่อพูดถึง เป่าลม ยอห์นกำลังคิดถึงการสร้างมนุษย์ในพระธรรมเก่าที่มีบันทึกไว้ว่า พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีดิน ระบายลมปราณเข้าทางจมูก มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต (ปฐก 2:7) และเรื่องกระดูกแห้งในหุบเขามรณะที่พระเจ้าตรัสกับลมว่า ลมปราณเอ๋ย จงมาจากลมทั้งสี่ทิศ และเข้าสู่ร่างที่ถูกสังหารเหล่านี้เพื่อพวกเขาจะมีชีวิต (อสค 37:9)
       เห็นได้ชัดว่า ลม คือ ชีวิต
      เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป่า ลม เหนือบรรดาอัครสาวกพร้อมกับตรัสว่า จงรับพระจิตเจ้าเถิด จึงแปลเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก ลม คือ พระจิตเจ้า
 เราจึงสรุปได้ว่า พระจิตเจ้า คือชีวิต
      เท่ากับว่า พระองค์ทรงประทานชีวิตใหม่ให้แก่บรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักร โดยทางพระจิตเจ้า
      หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ พระจิตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรและเรา   ทุกคนมีชีวิต
      เมื่อได้รับชีวิตใหม่อาศัยพระจิตเจ้าแล้ว บรรดาอัครสาวกเลิกกลัว เลิกหลบซ่อน  ทุกคนพากันแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
      แล้วเราจะใช้ชีวิตใหม่ที่ได้รับมาอย่างไร ?

3. ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใดบาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
     ภารกิจแรกของพระเยซูเจ้าหลังกลับคืนพระชนมชีพคือการส่งพระศาสนจักรออกไปประกาศข่าวดี และข่าวดีแรกที่พระองค์ทรงสั่งให้ประกาศคือ การอภัยบาป (ยน 20:23)
      แต่การจะอภัยบาปหรือไม่อภัยบาปแก่ผู้ใด หาได้ขึ้นกับอำเภอใจของพระศาสนจักรหรือของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งแต่ประการใดไม่
     ย้อนกลับไปเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มภารกิจเปิดเผย พระองค์ทรงประกาศว่า จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว (มธ 4:17)
      เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรต้องประกาศการอภัยบาปแก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ !!
ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นทุกข์กลับใจ พระศาสนจักรต้องตักเตือน ต้องสั่งสอน และต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้เขาเป็นทุกข์กลับใจและได้รับการอภัยบาป
      เราจึงต้องหันกลับมาดูตัวเองว่าได้เป็นทุกข์กลับใจ และได้ช่วยผู้อื่นให้เป็นทุกข์กลับใจจนได้รับการอภัยบาปบ้างแล้วหรือยัง ?
    เพื่อให้การสมโภชพระจิตเจ้าในวันนี้ มีความหมายและเกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรามากที่สุด  เราจึงควรปฏิบัติตามสิ่งที่พระวรสารเรียกร้อง ดังนี้
1.               ดำเนินชีวิตให้สมกับ ชีวิตใหม่ ที่ได้รับจากพระจิตเจ้า
2.    ประกาศ ข่าวดีของพระเยซูเจ้า  ไม่ใช่ข่าวดีของตนเอง
3.    กลับใจ และเพียรพยายามช่วยผู้อื่นให้ กลับใจ เพื่อจะได้รับการ อภัยบาป
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)
ประชาสัมพันธ์
1.   วันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. 2011  สมโภชพระวรกายและ
พระโลหิตพระคริสตเจ้า  แห่ศีลมหาสนิท มิสซา 9.00 น.
2.           เขต 2 จัด สัมมนาชีวิตคริสตชน ณ วัดเซนต์จอห์น จัด 3 วัน     เฉพาะวันเสาร์ เวลา 8.00-17.00 น.  คุณพ่อยอห์น ตามาโย  วิทยากร
    เสาร์ที่ 2 ก.ค. 2011     ความจริงพื้นฐานของคริสตศาสนา
เสาร์ที่ 9 ก.ค. 2011   :   ชีวิตจิตของคริสตชน
เสาร์ที่ 16 ก.ค. 2011  :   ชีวิตในพระจิตเจ้า
     ดูตารางการสัมมนาได้ที่บอร์ดหน้าวัด และลงชื่อได้ที่สภาอภิบาล  ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. 2011

3.  คำสอนเด็ก-ผู้ใหญ่ วันอาทิตย์ เริ่มเรียนวันอาทิตย์ที่ 19 มิ.ย. 2011 เวลา 10.30-12.00 น.  สำหรับคำสอนผู้ใหญ่วันธรรมดา เรียนวันอังคารและศุกร์ เวลา 18.00 น.
4.  สภาอภิบาล ขอเรียนเชิญร่วมงานเลี้ยงส่ง คุณพ่อวิจิตต์     แสงหาญ เจ้าอาวาสเก่า และเลี้ยงต้อนรับ คุณพ่อธีระ กิจบำรุง  เจ้าอาวาสใหม่   ในวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2011  เวลา 17.00 น. พิธีบูชามิสซา และเวลา 18.00 น. งานเลี้ยงรับประทานอาหาร  บัตรราคาใบละ 300 บาท (ซื้อบัตรได้ที่สภาอภิบาล)
5.  ยอดเงินบริจาค รณรงค์มหาพรต วันอาทิตย์ที่ 5 มิ.ย. 2011  จำนวน 1,892 บาท

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2011

สมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์
 ( วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2011 )
รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 28:16-20

 (16)บรรดาศิษย์ทั้งสิบเอ็ดคนได้ไปยังแคว้นกาลิลี ถึงภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดไว้  (17)เมื่อเขาเห็นพระองค์ ก็กราบนมัสการ แต่บางคนยังสงสัยอยู่  (18)พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่าพระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เรา (19) เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต (20) จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ
       นักบุญลูกาบันทึกไว้ว่า เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าเขาทั้งหลาย เมฆบังพระองค์จากสายตาของเขา เขายังคงจ้องมองท้องฟ้าขณะที่พระองค์ทรงจากไป  ทันใดนั้นมีชายสองคนสวมเสื้อขาวปรากฏกับเขากล่าวว่า ชาวกาลิลีเอ๋ย ท่านทั้งหลายยืนแหงนมองท้องฟ้าอยู่ทำไม พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ที่ทรงเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ จะเสด็จกลับมาเช่นเดียวกับที่ท่านทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงจากไปสู่สวรรค์’” (กจ 1:9-11)
       เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้หมู่บ้านเบธานี (ลก 24:50) ทางทิศตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม บนภูเขามะกอกเทศ (กจ 1:12)
       อย่างไรก็ตาม การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้า มิได้เป็นเพียงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสองพันปีก่อนที่ลูกาบันทึกไว้เท่านั้น แต่ยังมีความหมายสำคัญและเป็นปัจจุบันทั้งสำหรับพระเยซูเจ้าเองและสำหรับเราคริสตชนทุกคนด้วย....
       สำหรับพระเยซูเจ้า การเสด็จขึ้นสวรรค์เป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ที่พระเจ้าตรัสสัญญาไว้ว่า จงประทับทางขวาของเรา จนกว่าเราจะทำให้ศัตรูของท่านเป็นดังแท่นวางเท้าของท่าน (สดด 110:1) ซึ่งเป็นข้อความจากพระธรรมเก่าที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดในพระธรรมใหม่
นอกจากนั้น การเสด็จขึ้นสวรรค์ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงได้รับการเทิดทูนเหนือบรรดาวีรบุรุษในพระธรรมเก่าอย่างเช่นกษัตริย์ดาวิดซึ่ง ยังไม่เคยเสด็จขึ้นสวรรค์ (กจ 2:34) และทรงอยู่เหนือทูตสวรรค์ดังที่ผู้นิพนธ์จดหมายถึงชาวฮีบรูตั้งคำถามว่า พระเจ้าตรัสกับทูตสวรรค์องค์ใดบ้างว่า 'เชิญมาประทับ ณ เบื้องขวาของเราเถิด จนกว่าเราจะปราบศัตรูทั้งหมดให้เป็นที่วางเท้าของท่าน'” (ฮบ 1:13) และนักบุญเปโตรเสริมว่า ทั้งทูตสวรรค์ ทั้งศักดิเทพ และทั้งอิทธิเทพทั้งหลายล้วนอยู่ใต้พระอำนาจของพระองค์ผู้เสด็จสู่สวรรค์และประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า (1 ปต 3:22)
       รวมความว่า อาศัยการเสด็จขึ้นสวรรค์ พระเยซูเจ้าทรง ครอบครองทุกสิ่งอย่างสมบูรณ์" (อฟ 4:10) และได้รับ พระนามที่ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น  เพื่อทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน รวมทั้งใต้พื้นพิภพ จะย่อเข่าลงนมัสการพระนาม เยซูนี้  และเพื่อชนทุกภาษาจะได้ร้องประกาศว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า (ฟป 2:9-11)
       ทั้งหมดนี้พระองค์ทรงสรุปให้บรรดาอัครสาวกฟังสั้นๆ ว่า พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เรา (มธ 28:18)
บางคนอาจส่ายหน้าด้วยความผิดหวัง ที่พระองค์ทรงลงเอยด้วยน้ำเน่าเหมือนมนุษย์ทั่วไป คือทรงกระทำทุกสิ่งเพื่อ อำนาจ นี่เอง
       แต่อำนาจของพระองค์แตกต่างจากอำนาจที่มนุษย์แสวงหาอย่างสิ้นเชิง !
       ตัวอย่างที่เราพบเห็นจนกลายเป็นความเคยชินไปแล้วก็คือพวกนักการเมืองซึ่งพยายามทุกวิถีทางเพื่อเข้าสู่วงจรอำนาจ  เริ่มตั้งแต่โกงเลือกตั้ง ซื้อตำแหน่ง แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มและคงไว้ซึ่งอำนาจ ฯลฯ เพราะอำนาจทำให้ตัวเขาและพวกพ้อง ได้รับผลประโยชน์
       แต่อำนาจของพระเยซูเจ้าเป็น อำนาจเหนือความตาย และพระองค์ทรงใช้อำนาจนี้มิใช่เพื่อพระองค์เอง แต่ เพื่อช่วยเราทุกคน ให้เอาชนะความตายและมีชีวิตนิรันดรดุจเดียวกับพระองค์
       ในเมื่อความตายพระองค์ยังสามารถพิชิตได้ ยังจะมีอะไรอีกหรือที่อยู่นอกเหนือความสามารถและอำนาจของพระองค์ ไม่ว่าในสวรรค์หรือบนแผ่นดินก็ตาม ?
       เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะต้องกลัวอะไรอีกเพราะเจ้านายของเราทรงมีอำนาจชนิดปราศจากข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น ?!
       สำหรับคริสตชน การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้ามีความสำคัญต่อเราอย่างยิ่งยวด
       1.    ทำให้เราได้รับพระจิตเจ้า ดังที่ทรงตรัสว่า ถ้าเราไม่ไป พระผู้ช่วยเหลือก็จะไม่เสด็จมาหาท่าน  แต่ถ้าเราไป เราจะส่งพระองค์มาหาท่าน (ยน 16:7)
              หากพระองค์ไม่เสด็จขึ้นสวรรค์ ร่างกายของพระองค์ก็ประทับอยู่เพียงที่เดียวในปาเลสไตน์เมื่อสองพันปีก่อน  แต่เมื่อเสด็จขึ้นสวรรค์ พระจิตของพระองค์สามารถประทับอยู่ทุกแห่งที่ มีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของพระองค์ (มธ 18:20) ตลอดไป
              ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงกล้าสัญญากับบรรดาอัครสาวกว่า จงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ (มธ 28:20)
              แปลว่าเรามีพระองค์ประทับอยู่เคียงข้างเราเสมอไม่ว่ายามสุขหรือทุกข์ก็ตาม
            นับจากนี้ไป เราไม่ต้องหวั่นกลัวอะไรอีกเพราะเรามีพระเยซูเจ้าผู้มีอำนาจเต็มทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดิน อยู่กับเราและช่วยเหลือเราตลอดไป ตราบจนสิ้นพิภพ.........
       2.    ทำให้เรามีความหวัง  ในเมื่อพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์แท้ยังเสด็จขึ้นสวรรค์ได้ เราย่อมหวังว่าจะขึ้นสวรรค์ได้เช่นเดียวกับพระองค์  ยิ่งพระองค์ตรัสว่า เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน (ยน 14:2) เรายิ่งมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า เมื่อกระโจมที่เราอาศัยอยู่ในโลกนี้ถูกเก็บไปแล้ว เรายังมีบ้านซึ่งพระเจ้าทรงสร้างไว้สำหรับเรา เป็นบ้านที่ไม่ได้สร้างด้วยมือมนุษย์ แต่เป็นบ้านถาวรนิรันดรอยู่ในสวรรค์ (2 คร 5:1)
       3.    ทำให้เครื่องบูชาของเราเป็นที่พอพระทัย  เพราะพระเยซูเจ้าคือ มหาสมณะยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งผ่านเข้าสู่สวรรค์ (ฮบ 4:14) และเสด็จล่วงหน้าเข้าไปถึงห้องภายในพระวิหาร (ฮบ 6:19-20) ซึ่งเป็นพระวิหารแท้โดยมีพระวิหารที่น้ำมือมนุษย์สร้างขึ้นในโลกนี้เป็นเพียงภาพจำลอง (ฮบ 9:24)  นอกจากนี้พระองค์ ทรงถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปเพียงครั้งเดียว แล้วจึงเสด็จเข้าประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้าตลอดไป (ฮบ 1:3; 10:12; 12:2)
              การเสด็จขึ้นสวรรค์เข้าสู่ห้องภายในซึ่งมีแต่มหาสมณะเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้และประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้าตลอดไปคือเครื่องพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงพอพระทัยและยอมรับเครื่องบูชาลบล้างมลทินแห่งบาปที่พระองค์ทรงถวายบนไม้กางเขน และไม่จำเป็นต้อง ถวายเครื่องบูชาอย่างเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ฮบ 10:11)
       4.    ทำให้เรามีทนายแก้ต่าง ดังที่นักบุญยอห์นกล่าวว่า ถ้าใครทำบาป เรายังมีทนายแก้ต่างให้เฉพาะพระพักตร์ของพระบิดา คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเที่ยงธรรม (1 ยน 2:1)
              ที่สำคัญคือพระองค์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกับเราทุกประการ ทรงประสบกับทุกสิ่งที่เราประสบไม่ว่าจะเป็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และ ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป (ฮบ 4:15) ด้วยเหตุนี้พระองค์จึง ติดต่อกับพระเจ้าเพื่อไถ่โทษชดเชยบาปของประชากร (ฮบ 2:17) และ บันดาลความรอดพ้นนิรันดรแก่ทุกคนที่ยอมนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์ เพราะพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระองค์ให้ทรงเป็นมหาสมณะตามแบบอย่างของเมลคีเซเดค (ฮบ 5:9-10)
              การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้าจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า พระเจ้าทรงเข้าใจมนุษย์อย่างถ่องแท้ เราจึง วอนขอพระหรรษทานได้ด้วยความมั่นใจ และพบพระหรรษทานเกื้อกูลในยามที่เราต้องการ (ฮบ 4:16)
              ในเมื่อพระองค์สามารถบันดาลความรอดพ้นนิรันดรให้แก่ทุกคนที่นอบน้อมเชื่อฟังพระองค์ พระองค์จึงตรัสสั่งบรรดาอัครสาวกว่า ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา (มธ 28:19)
              นี่คือสุดยอดภารกิจที่ทรงมอบหมายแก่สาวกและเราทุกคน !
              ภารกิจนี้คือ ทำให้โลกเป็นศิษย์และนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์
              พระองค์ต้องการศิษย์มิใช่เพื่อชื่อเสียงหรือเกียรติยศของพระองค์เอง แต่เพื่อช่วยศิษย์ให้รอดและ มีชีวิตเหมือนพระองค์
              พระบิดาทรงส่งพระองค์มา และพระองค์ทรงส่งเราไป ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้เอง !
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)