วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2011

อาทิตย์ที่ 29  เทศกาลธรรมดา
( วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2011 )


รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 22:15-21
(15)ครั้งนั้น ชาวฟาริสีปรึกษากันเพื่อจับผิดพระวาจาของพระเยซูเจ้า  (16)จึงส่งศิษย์ของตนพร้อมกับคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรดมาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง โดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร  (17) ดังนั้น โปรดบอกเราเถิดว่า ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์เป็นการถูกต้องหรือไม่  (18)พระเยซูเจ้าทรงหยั่งรู้เจตนาร้ายของเขา จึงตรัสว่า พวกคนเจ้าเล่ห์ เจ้ามาทดลองเราทำไม (19)จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง เขาก็นำเงินเหรียญมาถวาย  (20)พระองค์จึงตรัสถามว่า รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร  (21)เขาตอบว่า เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์ พระองค์จึงตรัสว่า ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด
ที่ผ่านมา พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิวหลายครั้ง  ในอุปมาเรื่องบุตรสองคน พวกเขาถูกเปรียบเป็นบุตรคนที่พูดว่า ครับพ่อ แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามความประสงค์ของบิดา (มธ 21:30)  ในอุปมาเรื่องคนเช่าสวน พวกเขาถูกเปรียบเป็นคนเช่าสวนชั่วร้าย (มธ 21:33-46)  และล่าสุดในอุปมาเรื่องงานวิวาหมงคล พวกเขาถูกเปรียบเป็นแขกซึ่งปฏิเสธคำเชิญจนกษัตริย์ต้องส่งกองทัพมาทำลายและเผาเมืองจนราบคาบ (มธ 22:1-14)
ครั้งนี้ถึงคราวพวกเขา เอาคืน บ้าง !
พวกเขามุ่งมั่นและจริงจังในการ เอาคืน พระองค์จนกระทั่งยอมร่วมมือกับ คนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรด (มธ 22:16) ซึ่งปกติแล้วพวกเขายืนอยู่ตรงข้ามกันคนละขั้วเลยทีเดียว
ฟาริสีเป็นผู้นำทางศาสนาของชาวยิวที่เคร่งครัดมาก  พวกเขายอมรับพระเจ้าเป็นกษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว การเสียภาษีให้ซีซาร์เท่ากับยอมรับซีซาร์เป็นกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของพระเจ้าอย่างร้ายแรง
ส่วนเฮโรดนั้นได้รับการแต่งตั้งจากซีซาร์ให้เป็นกษัตริย์แห่งกาลิลี  เฮโรดและคนที่เป็นฝ่ายเดียวกับพระองค์จึงร่วมมือกับซีซาร์และโรมอย่างใกล้ชิด ถึงกับยอมช่วยโรมเก็บภาษีจากชาวยิวด้วยกันเอง
พวกที่เป็นฝ่ายเดียวกับเฮโรดจึงถูกตราหน้าว่า ขายชาติ !
กระนั้นก็ตาม พวกเขายอมมองข้ามความแตกต่างและความเกลียดชังระหว่างกัน แล้วสมานฉันท์กันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันแรงกล้าร่วมกัน  นั่นคือกำจัดพระเยซูเจ้าให้พ้นไปจากหนทางของพวกเขา
พวกเขาวางแผนกำจัดพระองค์อย่างแยบยลด้วยการตั้งคำถามในที่สาธารณะต่อหน้าผู้คนมากมาย โดยหวังจะลดความน่าเชื่อถือของพระองค์อาศัยคำตอบจากปากของพระองค์เอง
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คำถามของพวกเขายังเป็น คำถามพิฆาต อีกด้วย !
ที่ว่าเป็นคำถามพิฆาตก็เพราะผู้ถามต้องการคำตอบเพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่ และไม่ว่าผู้ตอบจะตอบอย่างไรก็ไม่มีทางรอดพ้นจากความผิดไปได้
ตัวอย่างเช่น คุณเลิกตบตีภรรยาแล้วใช่ไหม ?
หากตอบ ใช่ ก็แปลว่าคุณเคยตบตีภรรยามาก่อน
หากตอบ ไม่ใช่ ก็แปลว่าคุณยังตบตีภรรยาอยู่
พวกเขาเริ่มต้น เอาคืน ด้วยการพูดดีแต่เจตนาร้ายว่า พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง โดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร (มธ 22:16)
หลังจากประจบประแจงแล้ว พวกเขายิงคำถามพิฆาตใส่พระองค์ทันที ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์เป็นการถูกต้องหรือไม่ (มธ 22:17)
ภาษี คือปัญหาคาใจที่สุดของชาวยิว เพราะนอกจากจะไม่ชอบเสียภาษีเหมือนๆ กับคนทุกชาติแล้ว การเสียภาษียังขัดกับความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ยอมรับผู้ใดเป็นกษัตริย์นอกจากพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว  ยิ่งพวกคลั่งชาติอย่างเช่นซีมอนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกด้วยแล้ว พวกเขายิ่งไม่ยอมเสียภาษีให้กษัตริย์ต่างชาติเป็นอันขาด
แม้ไม่ต้องการเสียภาษี แต่ข้อเท็จจริงก็คือชนชาติยิวตกเป็นเมืองขึ้นของโรมและได้รับการปกป้องคุ้มครองจากโรม  โรมจึงถือสิทธิเรียกเก็บภาษีจากชาวยิว 3 ประเภทด้วยกัน คือ
              1.    ภาษีที่ดิน  เก็บอัตราร้อยละสิบของผลผลิตจำพวกข้าว และร้อยละยี่สิบของผลผลิตจำพวกน้ำมันและเหล้าองุ่น
2.    ภาษีรายได้  เก็บอัตราร้อยละหนึ่ง
       3.    ภาษีรัชชูปการ  เพราะชาวยิวได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร โรมจึงเรียกเก็บภาษีรัชชูปการจากชายอายุ 14 65 ปีและหญิงอายุ 12 - 65 ปี ในอัตราหนึ่งเดนารีอุสต่อคนต่อปี (เทียบเท่าค่าแรงงานขั้นต่ำ 1.25 วัน)
ภาษีที่พวกเขาถามพระเยซูเจ้าคือภาษีรัชชูปการนี้เอง
คำถามนี้แหลมคมและเป็นคำถามพิฆาตจริงๆ !
หากพระองค์ตอบว่าไม่ต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์ พวกเขาก็จะฟ้องโรม แล้วพระองค์ก็จะถูกจับกุมข้อหายุยงประชาชนให้ก่อการกบฏทันที
ตรงกันข้าม หากพระองค์ตอบว่าต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์  ชาวยิวก็จะตราหน้าพระองค์ว่าทรยศต่อพระเจ้า เป็นคนขายชาติ  แล้วเลิกติดตามพระองค์
ไม่ว่าพระองค์จะตอบประการใด ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและภารกิจของพระองค์ทั้งสิ้น
ด้วยทรงหยั่งรู้เจตนาร้ายของพวกเขา พระองค์จึงตรัสว่า พวกคนเจ้าเล่ห์ เจ้ามาทดลองเราทำไม  จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง (มธ 22:18-19)
สมัยก่อน เหรียญเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นกษัตริย์  ทันทีที่กษัตริย์ขึ้นครองราชย์พระองค์จะผลิตเหรียญที่มีรูปและคำจารึกของพระองค์เองขึ้นมา และถือกันว่าเหรียญเหล่านี้เป็นสมบัติของผู้ที่มีรูปอยู่บนเหรียญ
เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร  พวกเขาตอบว่า เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์ (มธ 22:19-20)
พระองค์จึงตรัสว่า ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด (มธ 22:20)
นี่คือสุดยอดปรีชาญาณของพระองค์ เพราะแทนที่จะตอบเป็น กฎ ซึ่งล้าสมัยได้เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป พระองค์กลับตอบเป็น หลักการ ซึ่งไม่ขึ้นกับเวลาและไม่มีวันล้าสมัย
หลักการของพระองค์คือ ของของใคร จงคืนให้คนคนนั้น !!
จากหลักการดังกล่าว เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ สัญชาติ ซึ่งคริสตชนทุกคนต้องมีอย่างน้อย 2 สัญชาติด้วยกัน
สำหรับคริสตชนไทย สัญชาติทั้งสองคือ
1.    สัญชาติไทย  เมื่อถือสัญชาติไทย เราย่อมเป็นพลเมืองไทยซึ่งต้องมีทั้งสิทธิและหน้าที่ควบคู่กันไป
       รัฐไทยได้ให้ความร่มเย็นเป็นสุขและความมั่นคงปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายและภัยคุกคามจากต่างประเทศ  ตลอดจนจัดให้มีบริการสาธารณะดังเช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ  หากขาดเสียซึ่งรัฐไทยเราคงดำรงชีพด้วยความยากลำบาก หรืออาจไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป
              เมื่อรัฐไทยมีบุญคุณต่อเราเช่นนี้ เราจึงต้องตอบแทนบุญคุณด้วยการทำหน้าที่พลเมืองไทยอย่างดีและอย่างรับผิดชอบ ดุจเดียวกับซีซาร์ซึ่งปกป้องคุ้มครองชนชาติยิว ชาวยิวจึงต้องตอบแทนบุญคุณซีซาร์ด้วยการเสียภาษี
       นักบุญเปาโลจึงสอนว่า ท่านจงเสียภาษี เพราะผู้ทำหน้าที่นี้เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า จงให้ทุกคนตามสิทธิของเขา จงเสียภาษีแก่ผู้มีสิทธิรับภาษี จงเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิเก็บค่าธรรมเนียม จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้สมควรจะได้รับเกียรติ (รม 13:6-7)
       เมื่อรวมกับหลักการของพระเยซูเจ้าที่ว่า ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์  เราจึงฟันธงได้ว่า ผู้ใดพลาดจากการเป็นพลเมืองดี ผู้นั้นไม่มีทางเป็นคริสตชนที่ดีได้เลย !
2.    สัญชาติสวรรค์  เราได้สัญชาตินี้จากพระเจ้า ดังนั้นคริสตชนทุกคนจึงมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า เราแต่ละคนต่างจะต้องทูลรายงานเกี่ยวกับตนเองต่อพระเจ้า ด้วย (รม 14:12)
ปกติหน้าที่อันเนื่องมาจากการถือ 2 สัญชาติจะไม่ขัดแย้งกัน และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันด้วยเพราะว่า ไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า และอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ก็ได้รับจากพระเจ้าทั้งสิ้น (รม 13:1)
ในเมื่อผู้ปกครองประเทศได้รับอำนาจมาจากพระเจ้า การเลือกผู้ปกครองจึงต้องคำนึงถึงนโยบายที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นอันดับแรก ไม่ใช่มัวคิดคำนึงถึงจำนวนเงินหรือผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ
หากเกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติตามหน้าที่ของทั้งสองสัญชาติ เช่น กฎหมายบัญญัติสิ่งที่ขัดกับหลักศีลธรรมคริสต์ ให้ยึดหลักการของพระเยซูเจ้าที่ว่า คริสตชนที่แท้จริงต้องเป็นพลเมืองดีของชาติ และในเวลาเดียวกันต้องเป็นพลเมืองดีของอาณาจักรสวรรค์ด้วย !
เราไม่อาจละเลยหน้าที่ทั้งต่อพระเจ้าและต่อประเทศชาติ ดังคำสอนของนักบุญเปโตรที่ว่า จงเคารพยำเกรงพระเจ้า จงถวายพระเกียรติแด่พระจักรพรรดิ (1 ปต 2:17)
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น