วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2012

อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา
 ( วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2012 )


รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มาระโก 1:21-28
พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนที่เมืองคาเปอรนาอุม ทรงรักษาคนถูกปีศาจสิง
(21)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อถึงวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรม และทรงเริ่มสั่งสอน (22)คำสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์ (23)ขณะนั้น ในศาลาธรรมชายคนหนึ่งซึ่งปีศาจสิงอยู่ร้องตะโกนว่า (24) “ท่านมายุ่งกับเราทำไม เยซู ชาวนาซาเร็ธ ท่านมาทำลายเราใช่ไหม เรารู้ว่าท่านเป็นใคร ท่านคือองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” (25)พระเยซูเจ้าทรงดุปีศาจและตรัสสั่งว่าจงเงียบ ออกไปจากผู้นี้” (26)เมื่อปีศาจทำให้ชายผู้นั้นชักและร้องเสียงดังแล้ว มันก็ออกไปจากเขา (27)ทุกคนต่างประหลาดใจจึงถามกันว่านี่มันเรื่องอะไร เป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจ เขาสั่งแม้กระทั่งปีศาจและมันก็เชื่อฟัง” (28)แล้วกิตติศัพท์ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทุกแห่งตลอดทั่วแคว้นกาลิลีทันที

เมื่อทรงคัดเลือกศิษย์กลุ่มแรกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสั่งสอนในศาลาธรรม
ศาลาธรรมเป็นศูนย์กลางชีวิตทางศาสนาของชาวยิว จนกฎหมายต้องกำหนดให้มีศาลาธรรมทุกแห่งที่มีชาวยิวเกิน 10 ครัวเรือนขึ้นไป กิจกรรมหลักในศาลาธรรมประกอบด้วย 3 สิ่งคือ การสวดภาวนา การอ่าน และการอธิบายพระคัมภีร์ ส่วนการถวายเครื่องบูชาต้องกระทำที่พระวิหารซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในกรุงเยรูซาเล็ม
       หัวหน้าศาลาธรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ภายในศาลาธรรม มีอาสาสมัครจำนวนหนึ่งทำหน้าที่แจกจ่ายทานที่ได้รับบริจาคทั้งที่เป็นเงินหรือเป็นสิ่งของแก่คนยากจน โดยผู้ที่ยากจนที่สุดจะได้รับแจกอาหาร 14 มื้อต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ประจำอีกผู้หนึ่งเรียกว่า Chazzan (ชัซซาน) มีหน้าที่ดูแลม้วนพระคัมภีร์ ทำความสะอาดศาลาธรรม เป่าแตรเดี่ยวเพื่อเตือนประชาชนว่าวันสับบาโตกำลังมาถึง และสอนเด็กเล็ก
       สิ่งหนึ่งที่ศาลาธรรมไม่มีคือนักเทศน์สอนประจำ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าศาลาธรรมที่จะเชิญผู้มีความสามารถหรือมีชื่อเสียงที่ปรากฏตัวอยู่ในศาลาธรรมให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ หรืออธิบายพระคัมภีร์แก่ประชาชน
นี่คือโอกาสและเหตุผลอันดีที่พระเยซูเจ้าทรงเลือก ศาลาธรรม ให้เป็น ธรรมาสน์ สำหรับเทศน์สอนข่าวดีและเรียกร้องมนุษย์ให้กลับมาหาพระเจ้า คำสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์ (ข้อ 22)
       ธรรมาจารย์ คือผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมบัญญัติ
       สำหรับชาวยิว สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลกคือธรรมบัญญัติ หรือที่ภาษาฮีบรูเรียกว่า Torah (โตราห์) ซึ่งได้แก่หนังสือพระธรรมเก่าห้าเล่มแรก (ปัญจบรรพ) โดยมีแก่นสำคัญอยู่ที่บัญญัติสิบประการ
ที่ว่าศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นพระเจ้าเองที่ทรงประทานให้แก่มนุษย์โดยผ่านทางโมเสส  เนื่องจากเป็นของพระเจ้า ธรรมบัญญัติจึงเป็นหลักแห่งความเชื่อที่สำคัญที่สุด และต้องประกอบด้วยหลักการสำหรับนำทางชีวิตมนุษย์ทั้งครบจนตลอดชีวิต ถ้าหากหลักการใดไม่ได้ระบุไว้อย่างแจ้งชัดก็แปลว่าต้องแฝงอยู่ในหลักการอื่นๆ
หน้าที่ประการแรกของธรรมาจารย์จึงได้แก่การคิดค้นระเบียบและกฎเกณฑ์ที่แฝงเร้นอยู่ในธรรมบัญญัติให้ปรากฏชัดแจ้ง เพื่อจะได้ใช้บังคับกับทุกสถานการณ์ในชีวิตมนุษย์ พวกเขาทำให้ศาสนายิวซึ่งเริ่มต้นด้วยหลักศีลธรรมกว้างๆ อันยิ่งใหญ่ แต่จบลงด้วยระเบียบและกฎเกณฑ์อันไม่มีสิ้นสุด
      หน้าที่ประการที่สองของธรรมาจารย์คือการสอนและถ่ายทอดระเบียบกฎเกณฑ์ที่เรียกกันว่า ธรรมประเพณี ซึ่งยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเหล่านี้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งด้วยการท่องจำ จวบจนถึงประมาณกลางศตวรรษที่สองจึงมีการบันทึก ธรรมประเพณี เหล่านี้เป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือที่เรียกว่า Mishnah
       หน้าที่ประการสุดท้ายของธรรมาจารย์คือ การตัดสินกรณีต่างๆ
       วิธีการของพวกธรรมาจารย์คืออ้างคำสอนของธรรมาจารย์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเรียกกันว่า รับบี พวกเขามักเริ่มต้นด้วย มีคำกล่าวไว้ว่า.....” แล้วตามด้วยการอ้างอิงชื่อของรับบีที่มีชื่อเสียงในอดีต ก่อนที่จะลงเอยด้วยคำตัดสินของตนเอง
แต่วิธีการของพระเยซูเจ้าแตกต่างจากพวกธรรมาจารย์โดยสิ้นเชิง !!!
       พระองค์สอนโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของผู้อื่น พระองค์ไม่ต้องอ้างอิงรับบีหรือผู้เชี่ยวชาญคนใด คำสอนของพระองค์เป็นอิสระจากผู้อื่น
        เพราะคำสอนของพระองค์คือพระสุรเสียงอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขององค์พระผู้เป็นเจ้า !
       ผู้ฟังของพระองค์ก็ตระหนักดีถึงอำนาจที่อยู่ภายในตัวพระองค์.....
นอกจากอำนาจที่แสดงออกโดยทางคำพูดแล้ว พระองค์ยังแสดงอำนาจของพระองค์โดยผ่านทางการกระทำอีกด้วย
พระองค์ทรงรักษาคนถูกปีศาจสิง
ทั้งชาวยิวและคนในสมัยโบราณล้วนเชื่อเรื่อง ปีศาจสิง
ในสุสานโบราณแห่งหนึ่ง มีการค้นพบกะโหลกมนุษย์ 120 กะโหลกด้วยกัน ในบรรดากะโหลกเหล่านี้มีถึง 6 กะโหลกที่พบว่ามีรูเล็กๆ เจาะอยู่ และจากการศึกษาการเจริญเติบโตของกระดูก เป็นที่แน่ชัดว่ารูเล็กๆ เหล่านี้ถูกเจาะขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้รูเหล่านี้จะเล็กจนไม่มีผลใดๆ ตามมาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน แต่ในสมัยโบราณถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ทั้งนี้เพื่อให้ ปีศาจออกจากร่างกายมนุษย์
หากมีผู้เตรียมการผ่าตัดใหญ่เช่นนี้ และมีผู้ที่พร้อมจะให้เจาะกะโหลกเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าคนในสมัยก่อนเชื่อเรื่องปีศาจสิงมากสักเพียงใด !?
คำถามคือ ปีศาจ เหล่านี้มาจากไหน ?
บางคนเชื่อว่าปีศาจมีมาพร้อมกับการสร้างโลก บางคนเชื่อว่าปีศาจคือวิญญาณของคนชั่วที่แม้จะตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงลอยนวลสืบสานผลงานอันชั่วร้ายต่อไป แต่ชาวยิวส่วนใหญ่เชื่อว่าปีศาจคือลูกหลานของเทวดาชั่ว ดังที่ปรากฏในหนังสือปฐมกาลบทที่ 6 คือ บุตรชายของพระเจ้าเห็นว่าบุตรหญิงของมนุษย์สวยงาม จึงแต่งงานกับทุกคนที่เขาเลือก....มนุษย์ยักษ์ได้ปรากฏบนแผ่นดินในสมัยนั้น และสมัยต่อมา เมื่อบุตรชายของพระเจ้ามีเพศสัมพันธ์กับบุตรหญิงของมนุษย์และมีบุตรด้วยกัน บุตรเหล่านี้เป็นวีรบุรุษในอดีตและเป็นคนที่มีชื่อเสียง(ปฐก 6:1-4)
ชาวยิวได้แต่งเติมเรื่องดังกล่าวจนได้ความว่า มีเทวดาสององค์ชื่อ Assael (อัสซาเอล) และ Shemachsai (เชมัคซัย) ได้ละทิ้งพระเจ้าแล้วหนีมาอยู่โลกมนุษย์ ทั้งสองหลงเสน่ห์ความงามของหญิงสาวผู้รู้ตาย แต่เทวดาองค์หนึ่งเปลี่ยนใจหันกลับไปหาพระเจ้า ส่วนอีกองค์หนึ่งคงอยู่ในโลกมนุษย์เพื่อสนองตัณหาของตนเอง
ปีศาจ คือลูกหลานของเทวดาองค์นี้ !
ตามความเชื่อของชาวยิว ปีศาจคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ จึงมีอำนาจเหนือมนุษย์ ปีศาจเพศชายเรียกว่า Shedim (เชดิม) เพศหญิงเรียกว่า Lilin (ลิลิน) ปีศาจสามารถกิน ดื่ม และมีลูกหลานได้ จนมีจำนวนมากมายเหลือคณานับ บางคนเชื่อว่ามีมากถึงเจ็ดล้านห้าแสนตน (ถือว่ามากมายมหาศาลสำหรับชาวยิว) ชอบอาศัยอยู่ตามหลุมศพ ที่เปลี่ยว หรือแหล่งที่ไม่มีน้ำสำหรับชำระล้าง ชอบทำร้ายผู้ที่เดินทางตามลำพัง หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เจ้าบ่าว เจ้าสาว เด็กที่ออกนอกบ้านเวลาค่ำมืด และทุกคนที่เดินทางเวลากลางคืน พวกมันสามารถถ่ายทอดสิ่งเลวร้ายมาสู่มนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ โชคร้าย ฯลฯ
ปีศาจหญิงมักเป็นศัตรูกับเด็ก พวกเด็กๆ จึงต้องมีเทวดารักษาตัวทุกคน ดังที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ว่า เราบอกท่านทั้งหลายว่า ตลอดเวลาในสวรรค์ ทูตสวรรค์ของเขา (เด็กเล็กๆ) เฝ้าชมพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ (มธ 18:10)
ทั้งหมดนี้ เราจะเชื่อหรือไม่ ไม่สำคัญ !?
ประเด็นสำคัญคือ ผู้คนในสมัยพระเยซูเจ้าเชื่ออย่างนี้ !!!
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อใครก็ตามเชื่อว่าตัวเองถูกปีศาจสิง เขาจะตระหนักดีว่าตัวเองถูกปีศาจสิง และจะมั่นใจมากว่ามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในตัวเขาและคอยบังคับควบคุมเขา นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมคนที่ถูกปีศาจสิงจึงมักร้องเสียงดังเมื่อพบกับพระเยซูเจ้า ท่านมายุ่งกับเราทำไม เยซู ชาวนาซาเร็ธ ท่านมาทำลายเราใช่ไหม เรารู้ว่าท่านเป็นใคร (ข้อ 24) เพราะพวกเขารู้ตัวเองดีว่าถูก ปีศาจ สิง และรู้ดีว่าพระองค์คือ พระเมสสิยาห์ซึ่งเมื่อเสด็จมาก็หมายถึงจุดจบของพวกเขา!
ความเชื่อเช่นนี้ได้สืบทอดมาสู่คริสตชน จนพระศาสนจักรได้กำหนดให้มี พิธีไล่ผี ตั้งแต่ปี ค.. 340 เป็นต้นมา
แต่การ ไล่ผี ของพระเยซูเจ้าแตกต่างจากการไล่ผีของชาวยิวและคนต่างศาสนาโดยสิ้นเชิง !!  ชาวยิวและคนต่างศาสนาต้องมีพิธีกรรมที่ใช้เวทมนตร์และคาถามากมาย !!  แต่พระเยซูเจ้าใช้เพียงคำพูดที่สั้น เข้าใจง่าย และชัดเจน แต่ทว่าแฝงไว้ด้วยพลังอำนาจอย่างยิ่ง จงเงียบ ออกไปจากผู้นี้ (ข้อ 25)

เกี่ยวกับการรักษาคนถูกปีศาจสิง เราอาจมีท่าทีได้ 2 ประการ คือ
1. ถือเสียว่าเป็นเรื่องของคนสมัยโบราณที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่เจริญเหมือนในปัจจุบัน
2. ถือว่าเป็นเรื่องจริงทั้งในอดีต และในปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นจริง
หากยอมรับท่าทีแรก คือถือว่าเป็นเรื่องของคนโบราณ เราจำเป็นต้องอธิบายการกระทำของพระเยซูเจ้าที่พึ่งได้รับฟังในพระวรสารวันนี้
เป็นไปได้ว่าพระองค์รู้เรื่องการรักษาโรคเท่ากับคนในสมัยของพระองค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะพระองค์ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ และไม่ได้เสด็จมาเพื่อสอนวิทยาศาสตร์
หรือเป็นไปได้มากว่าพระองค์คือผู้ที่เข้าใจวิธีรักษาคนถูกปีศาจสิงได้ดีที่สุด นั่นคือ ต้องยอมรับว่าชายคนนั้นป่วยเพราะถูกปีศาจสิงเสียก่อน หาไม่แล้วพระองค์ไม่มีทางรักษาเขาให้หายได้เลย !
ทั้งหมดนี้แสดงถึง ความละเอียดอ่อนของพระเยซูเจ้า ทั้งในการเลือก ศาลาธรรม เป็นสถานที่สำหรับประกาศ ข่าวดี และในการรักษาคนถูกปีศาจสิงให้หายด้วยฤทธิ์อำนาจที่เข้าถึงจิตใจของผู้ป่วย
พระองค์ช่างสุดยอดจริงๆ
แค่เริ่มต้นเทศน์สอน ปีศาจก็ปั่นป่วนและพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
เราไม่หวังพึ่งพระองค์บ้างหรือ ?!?
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น