วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2011

อาทิตย์ที่ 23  เทศกาลธรรมดา
 ( วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2011 )


รำพึงพระวาจา
พี่น้องที่รัก
ข่าวดี   มัทธิว 18:15-20
 (15)ถ้าพี่น้องของท่านทำผิดจงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา (16) ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย คำพูดของพยานสองคนหรือสามคนจะได้จัดเรื่องราวให้เรียบร้อย (17) ถ้าเขาไม่ยอมฟังพยาน จงแจ้งให้หมู่คณะทราบ ถ้าเขาไม่ยอมฟังหมู่คณะอีก จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนา หรือคนเก็บภาษีเถิด (18) เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกในโลก จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในโลก ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย
(19)เราบอกความจริงแก่ท่านอีกว่า ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้ (20) เพราะว่า ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางพวกเขา
1. การคืนดีกัน
       จากเนื้อหาและน้ำเสียงของมัทธิวบทที่ 18 ข้อ 15-18 ทำให้เชื่อกันว่าไม่น่าจะเป็นคำสอนของพระเยซูเจ้าเอง
       เหตุผลประการแรกคือ เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะสอนศิษย์ว่า ถ้าเขาไม่ยอมฟังพยาน จงแจ้งให้หมู่คณะทราบ (มธ 18:17) เพราะคำกรีกที่ใช้คือ ekklesia  (เอคเคลซีอา) ไม่ได้หมายถึง หมู่คณะ แต่หมายถึง พระศาสนจักร ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นขณะที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่   ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่า  พระศาสนจักร ที่พูดถึงน่าจะผ่านการพัฒนามาระยะหนึ่งจนเป็นองค์กรที่มีระบบ ระเบียบ และอำนาจหน้าที่ชัดเจนว่าจะ ผูก หรือจะ แก้ สิ่งใด (มธ 18:18)
       ประการที่สอง เป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์จะสอนว่า ถ้าเขาไม่ยอมฟังหมู่คณะอีก จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนาหรือคนเก็บภาษีเถิด (มธ 18:17) ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเขา หมดหวังที่จะรอด ทั้งๆ ที่ตลอดชีวิตของพระองค์ทรงตามหาและคลุกคลีอยู่กับบุคคลเหล่านี้จนพวกฟารีสีเองถึงกับกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป (มธ 11:19; ลก 7:34) และนอกจากจะไม่ทรงเห็นว่าคนเก็บภาษีและคนบาปสิ้นหวังแล้ว พระองค์ยังตรัสว่า เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า  คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน (มธ 21:31)
       ประการสุดท้าย จากน้ำเสียงของพระวรสารตอนนี้ ดูเหมือนจะมีข้อจำกัดเรื่องการให้อภัย กล่าวคือ หลังจากได้พยายามดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว ที่สุดจะมาถึงขั้นตอนหนึ่งที่มีบางคนถูกทอดทิ้งให้สิ้นหวัง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พระเยซูเจ้าจะทรงสอนเช่นนี้
       ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า พระวรสารตอนนี้มิได้บันทึกคำพูดของพระเยซูเจ้าโดยตรง แต่เป็นการประยุกต์คำสอนของพระองค์โดยพระศาสนจักรในสมัยหลัง เพื่อให้สมาชิกถือเป็นหลักปฏิบัติ
       อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสสอนไว้โดยตรงคือ ถ้าใครทำผิดต่อท่าน จงพยายามทำทุกวิถีทางให้เขาสำนึกผิด เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับท่านจะดีดังเดิม
พูดง่ายๆ คือ เราจะยอมให้มีความแตกแยกระหว่างคริสตชนไม่ได้เด็ดขาด !
       แต่ถ้าเกิดความแตกแยกขึ้น พระศาสนจักรให้หลักปฏิบัติไว้ดังนี้
1.    เมื่อรู้สึกว่ามีคนทำผิดต่อเรา สิ่งแรกสุดที่ต้องกระทำคือ พูดออกมา ไม่ใช่เก็บเงียบไว้ในใจซึ่งมีแต่จะส่งผลร้ายต่อชีวิตและจิตใจของเราเอง  บางคนถึงกับเสียผู้เสียคนเพราะจมอยู่กับความเจ็บปวดรวดร้าวจนไม่อาจคิดถึงสิ่งอื่นหรือบุคคลอื่นได้อีก
       เราจึงต้องนำความรู้สึกนั้นออกมาภายนอกด้วยการพูด ซึ่งเมื่อ พูดออกไปแล้ว หลายครั้งเราจะพบว่าปัญหานั้นมันช่างเล็กน้อยและไร้สาระเสียนี่กระไร
2.    หากความรู้สึกยังไม่ดีขึ้น เราควร พบเขาตัวต่อตัว ไม่ใช่เขียนจดหมาย โทรศัพท์ หรือพูดผ่านบุคคลอื่น
       การใช้ตัวกลางรังแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะผู้ฟังไม่สามารถรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก หรือสีหน้าท่าทางของผู้พูด อันอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้
3.    หากการพบกันตัวต่อตัวยังไม่ประสบความสำเร็จอีก ให้นำผู้รู้หรือผู้ใหญ่ไปด้วย  เพราะปกติคนที่ทำผิดต่อเรามักไม่ชอบหน้าเราและไม่อยากฟังเราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การนำผู้รู้หรือผู้ใหญ่ที่ทุกฝ่ายเกรงใจไปด้วยย่อมช่วยให้บรรยากาศการสนทนาดีขึ้น และเป็นไปได้ว่าแต่ละฝ่ายจะมองเห็นตัวตนของตนเองเหมือนที่ผู้รู้หรือผู้ใหญ่มองเห็น
       คำพูดที่ว่า ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย (มธ 18:16) คงได้รับอิทธิพลจากคำสอนในพระธรรมเก่าที่ว่า พยานปากเดียวไม่เพียงพอเพื่อตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาหรือกระทำความผิดอื่นๆ  จะต้องมีพยานสองหรือสามปากเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาไม่ว่าในความผิดใดๆ (ฉธบ 19:15) ต่างกันเพียงแต่ว่าเป้าหมายในการนำผู้อื่นไปด้วยก็เพื่อช่วยให้คืนดีกัน ไม่ใช่เพื่อปรักปรำคนผิด
 4.   หากปัญหายังไม่ยุติ ให้นำเรื่องเสนอหมู่คณะคริสตชน ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร  เหตุผลคือ หากนำเรื่องสู่ศาลเราอาจยุติปัญหาทางแพ่งหรือทางอาญาได้ แต่ปัญหาทางความสัมพันธ์นอกจากจะยุติไม่ได้แล้ว ยังมีแต่จะทำให้ปัญหายืดเยื้อยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด
       ตรงกันข้ามกับศาล บรรยากาศในหมู่คณะคริสตชนซึ่งมีการสวดภาวนาและมี ความรักแบบคริสตชน ย่อมเอื้อต่อการแก้ปัญหาได้ดีกว่าตัวบทกฎหมายและระเบียบขั้นตอนของศาลมากมายนัก
5.    หากยังไม่สำเร็จอีก ขั้นตอนสุดท้ายคือ จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนาหรือคนเก็บภาษีเถิด (มธ 18:17)
       ขั้นตอนนี้อธิบายยาก แต่เราต้องเข้าใจไว้ก่อนว่า ในเมื่อพระเยซูเจ้าไม่ทรงละทิ้งแกะที่พลัดหลงแม้แต่ตัวเดียว มีหรือพระองค์จะทรงยินยอมปล่อยให้ผู้หนึ่งผู้ใดถูกทอดทิ้งด้วยความสิ้นหวัง ?!
       จึงดูเหมือนพระองค์กำลังสอนว่า เมื่อท่านได้ให้โอกาสแก่คนบาปและพยายามทุกวิถีทางแล้ว หากเขายังดึงดันอยู่ในบาป พวกท่านอาจถือว่าเขาเป็นคนเก็บภาษีผู้ทรยศต่อประเทศชาติ หรือเป็นคนต่างศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าก็ได้  แต่เราไม่เห็นว่าคนเก็บภาษีหรือคนต่างศาสนาจะสิ้นหวังตรงไหน พวกเขาก็มีหัวใจเหมือนกัน ดูอย่างมัทธิวและศักเคียสสิ พวกเขากลายเป็นเพื่อนรักของเรา  เพราะฉะนั้นพวกท่านต้องพยายามชนะใจพวกเขาให้ได้เหมือนที่เราได้ทำมาแล้ว
       ขั้นตอนนี้จึงไม่ใช่คำสั่งให้เราทอดทิ้งคนบาป แต่เป็นการท้าทายให้เราชนะใจคนบาปด้วยความรัก
       ความรักที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในหัวใจไม่ว่าจะแข็งกระด้างปานใดก็ตาม !
       เหตุผลของพระองค์คือ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกในโลก จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในโลก ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย (มธ 18:18) ซึ่งบ่งบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพี่น้องที่ถูกผูกหรือถูกแก้ในโลกนี้ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะต่างก็ส่งผลถึงชีวิตนิรันดรในสวรรค์
       เพราะฉะนั้นเรา ต้อง เยียวยาแก้ไขความแตกแยกให้ได้ !
2. คำภาวนาที่บังเกิดผล
       พระเยซูเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้ (มธ 18:19)
       ก่อนอื่นใดหมด เราจำเป็นต้องศึกษาพระวาจานี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  หากตีความง่ายๆ ตามตัวอักษร เราคงไม่แคล้วต้องผิดหวังกับการรอคอยสิ่งที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เรารวมตัวกันทั้งวัดหรือแม้แต่ทั้งสังฆมณฑลเพื่อวอนขอสันติภาพ แต่สันติภาพในโลกและทางภาคใต้ของไทยก็ยังไม่เกิดสักที
       สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาจะสอนเราเมื่อสวดภาวนาและวอนขอก็คือ
1.    คำภาวนาต้องไม่เห็นแก่ตัว  คำว่า สองคนในโลกนี้พร้อมใจกัน หมายความว่าเราต้องไม่คิดถึงแต่ตัวเองและวอนขอเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ  แต่ต้องวอนขอในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมซึ่งต้องคิดคำนึงถึงความต้องการของสมาชิกคนอื่นด้วย
       คำภาวนาที่เห็นแก่ตัวย่อมส่งผลร้ายต่อสังคมส่วนใหญ่ จึงยากที่พระบิดาจะประทานให้  ตรงกันข้าม หากทุกคนหรืออย่างน้อยส่วนใหญ่ของสังคมเห็นพ้องต้องกันวอนขอโดยไม่มีความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวเจือปนอยู่ คำภาวนานั้นย่อมบังเกิดผลอย่างแน่นอน
2.    พระเจ้าทรงสดับฟังคำภาวนาที่ไม่เห็นแก่ตัวเสมอ แต่ต้องระลึกอยู่เสมอว่า พระองค์ไม่ได้ประทานให้ตามความต้องการของเรา แต่ตามที่พระองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยปรีชาญาณและความรักทรงเห็นว่าดีที่สุด
       เหตุผลของพระองค์คือเรามักวอนขอ การหนี เช่น ขอให้รอดพ้นจากความยากลำบาก ความเสียใจ ความผิดหวัง และภยันตรายต่างๆ  แต่จะมีบิดาคนใดที่รักลูกแล้วยอมให้ลูกของตัวเองหนีหัวซุกหัวซุนอย่างผู้แพ้ตลอดชีวิต
       เช่นเดียวกัน พระเจ้าก็ไม่ทรงประสงค์ให้เราพ่ายแพ้ แต่ต้องการให้เรา ชนะ  ในยามทุกข์ยากลำบาก พระองค์ทรงช่วยเราให้เข้าใจในสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้  ทรงช่วยเราให้อดทนในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทนได้  และทรงช่วยเราให้กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เราเองไม่เคยคิดแม้แต่จะเข้าใกล้
       ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือพระเยซูเจ้า ขณะอยู่ในสวนเกทเสมนี พระองค์ทรงวอนขอให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันน่าสะพรึงกลัวว่า พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด (มธ 26:39) แต่สิ่งที่พระบิดาทรงประทานแก่พระองค์คือพลังที่จะเผชิญหน้า ที่จะอดทน และที่จะเอาชนะสถานการณ์อันเลวร้ายนั้น
       บทสรุปคือ พระเจ้าทรงสดับฟังคำภาวนาที่ไม่เห็นแก่ตัวเสมอ แต่คำตอบนั้นเป็นของพระองค์และไม่จำเป็นต้องเหมือนเรา !
       อนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงเสริมว่า ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางพวกเขา (มธ 18:20)
       เราอาจเข้าใจพระวาจานี้ได้ 2 ระดับด้วยกัน
1.    ระดับวัด  พระองค์ทรงประทับอยู่กับกลุ่มเล็ก ๆ เพียงสองสามคนเท่ากับที่ทรงประทับอยู่ท่ามกลางสัตบุรุษเต็มวัด
       เพราะฉะนั้น เมื่อเราประชุมกลุ่ม เช่น กลุ่มรักพระคัมภีร์ กลุ่มพลมารี กลุ่มเยาวชน ฯลฯ พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ท่ามกลางเราเท่าๆ กับขณะร่วมพิธีบูชามิสซาซึ่งมีสัตบุรุษมากมายเต็มวัด
       พระองค์ไม่ทรงสนใจตัวเลขหรือจำนวน ขอเพียงที่ใดมีหัวใจเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อร่วมกัน พระองค์ทรงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขาเสมอ
2.    ระดับครอบครัว  มีผู้อธิบายว่า สองสามคน นั้นได้แก่ บิดา มารดา และบุตร ซึ่งรวมกันเป็นครอบครัว
       หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ท่ามกลางครอบครัวทุกครอบครัว แม้จะทรงเป็นแขกที่มองไม่เห็นก็ตาม
หลายคนทำดีเฉพาะโอกาสสำคัญ แต่สำหรับพระเยซูเจ้า ทุกโอกาสที่มีสองสามคนร่วมกันในพระนามของพระองค์ ล้วนสำคัญเสมอ !
                       
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น