วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สารวัด วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2011

อาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา
( วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2011 )


รำพึงพระวาจา

พี่น้องที่รัก
ข่าวดี    มัทธิว 11:25-30
(25) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า ข้าแต่พระบิดา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย (26) ถูกแล้ว พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น (27) พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้
(28) ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักจงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน (29) จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน (30) เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่มและภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา
1. ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย
       พระเยซูเจ้าตรัสว่า ข้าแต่พระบิดา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้  แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย (มธ 11:25)
คำสรรเสริญนี้ออกมาจากประสบการณ์และชีวิตจริงของพระองค์เอง  บรรดาธรรมาจารย์ ฟาริสี และผู้มีปรีชารอบรู้ทั้งหลายไม่ยอมรับพระองค์เป็นพระเมส-    สิยาห์  แต่ประชาชนผู้ต่ำต้อยกลับต้อนรับพระองค์ด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
       ที่ตรัสเช่นนี้มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงรังเกียจ พลัง ของสติปัญญา แต่เป็น ความหยิ่งจองหอง ของสติปัญญาต่างหากที่พระองค์ทรงรังเกียจและตำหนิ
  เพราะเป็นความหยิ่งจองหองนั่นเองที่ฉุดรั้งมนุษย์จากพระเจ้า ส่วนความเฉลียวฉลาดนั้นไม่เคยปิดกั้นเราจากพระองค์
       เราอาจเฉลียวฉลาดเทียบเท่ากษัตริย์โซโลมอน แต่ถ้าขาดหัวใจที่สุภาพ วางใจ และใสซื่อเหมือนเด็กเล็กๆ เราก็ปิดกั้นตัวเราจากพระองค์
       ปราชญ์ท่านหนึ่งจึงกล่าวไว้ว่า ที่พำนักของพระวรสารคือหัวใจ ไม่ใช่หัวคิด
       พวกธรรมาจารย์เองก็ตระหนักดีถึงอันตรายของความหยิ่งจองหองของสติปัญญา พวกเขาจึงเล่าเรื่องเตือนใจตัวเองว่า ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดใหญ่ในเมืองสูรา (Sura) แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับรับ (Rab) ซึ่งเป็นธรรมาจารย์ผู้มีชื่อเสียง กลับไม่มีผู้ใดติดโรค ชาวบ้านพากันคิดว่าคงเป็นเพราะคุณงามความดีของรับ  แต่พวกเขาได้รับแจ้งในฝันว่าเป็นเพราะชายคนหนึ่งซึ่งเต็มใจให้คนอื่นยืมจอบและพลั่วสำหรับขุดหลุมฝังศพ และเมื่อเกิดไฟไหม้ที่เมืองโดรเคอเรท (Drokeret) เพื่อนบ้านของรับบีฮูนาคิดว่าเป็นเพราะคุณงามความดีของท่านรับบี บ้านของพวกเขาจึงรอดพ้นจากกองเพลิง  แต่ในฝันพวกเขาได้รับแจ้งว่าเป็นเพราะหญิงคนหนึ่งซึ่งเต็มใจให้เพื่อนบ้านใช้เตาอบ
ชายและหญิงที่กล่าวมามิได้มีสติปัญญาโดดเด่นดุจเดียวกับธรรมาจารย์ก็จริง  แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาทำด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักและความสุภาพถ่อมตนต่างหากที่ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย
       ใช่ พระองค์ทรงพอพระทัยเช่นนั้น ! (มธ 11:26)
2. ไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตร
       ชาวกรีกถือว่ายากที่จะรู้จักพระเจ้า และเมื่อรู้จักแล้วก็ยิ่งยากที่จะอธิบายให้ผู้อื่นฟัง
โซฟาร์เพื่อนของโยบก็ชี้ให้เห็นความล้ำลึกของพระเจ้าเมื่อเขาถามโยบว่า ท่านล่วงรู้ส่วนลึกของพระเจ้าหรือ ? (โยบ 11:7)
       แต่วันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า (มธ 11:27)
      นี่คือเอกสิทธิ์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว  เอกสิทธิ์อันเป็นศูนย์กลางความเชื่อของเราคริสตชน นั่นคือ ไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้ (มธ 11:27)  หรือตามสำนวนของนักบุญยอห์นว่า ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย (ยน 14:9)
       ความหมายของพระองค์คือ หากเราต้องการรู้ว่าพระบิดาทรงมีนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ตลอดจนทัศนคติต่อเราอย่างไรแล้วละก็ ให้ดูที่พระองค์
       เป็นความเชื่อมั่นสูงสุดของเราคริสตชนว่า ในพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้นที่เราสามารถรู้จักพระเจ้า และพระองค์เท่านั้นสามารถประทานความรู้นี้แก่ทุกคนที่มีความสุภาพถ่อมตนพอที่จะน้อมรับความรู้นั้น
3. ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิด
      พระเยซูเจ้าตรัสถึงบรรดาธรรมาจารย์และฟารีสีว่าพวกเขา มัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น (มธ 23:4)

สัมภาระหนักที่พวกเขาวางบนบ่าคนอื่นคือกฎระเบียบหยุมหยิมไม่รู้จักจบสิ้น พวกเขาทำให้คำว่า ท่านจะต้องไม่...ท่านจะต้องไม่... กลายเป็นหัวใจของศาสนา
       พวกธรรมาจารย์เองก็รับรู้ปัญหาเหล่านี้ พวกเขาเล่านิทานเปรียบเทียบที่น่าสลดใจเพื่อแสดงว่าธรรมบัญญัตินั้นผูกพัน บีบรัด เรียกร้อง และเป็นภาระหนักมากเพียงใด
       หญิงหม้ายยากจนคนหนึ่งมีบุตรสาวสองคนพร้อมกับนาอีกแปลงหนึ่ง  เมื่อนางเริ่มไถนา โมเสส (นั่นคือธรรมบัญญัติของโมเสส)  บอกนางว่า ท่านจะต้องไม่ไถนาด้วยวัวและลาพร้อมกัน  เมื่อนางเริ่มหว่านเมล็ดพืช โมเสสพูดว่า ท่านจะต้องไม่หว่านนาของท่านด้วยเมล็ดพืชต่างชนิดกัน ต่อมานางเริ่มเก็บเกี่ยวพืชผล โมเสสคนเดิมพูดอีกว่า เมื่อท่านเก็บเกี่ยวพืชผลในทุ่งนาแล้วลืมฟ่อนข้าวไว้ ท่านจะต้องไม่กลับไปเก็บ (ฉธบ 24:19)  และ ท่านจะต้องไม่เกี่ยวรวงข้าวที่ขอบนาจนหมด (ลนต 19:9) เมื่อนางนวดข้าว โมเสสกลับมาบอกนางว่า ท่านต้องถวายสิบชักหนึ่ง  นางก็แสนดี ปฏิบัติตามคำสั่งของโมเสสทุกประการ
       แต่เพื่อความอยู่รอด นางตัดสินใจขายนาแล้วนำเงินไปซื้อแกะสองตัว โดยหวังจะอาศัยขนแกะทำเครื่องนุ่งห่ม และขายลูกแกะเกิดใหม่หารายได้ปะทังชีวิต
       เมื่อลูกแกะถือกำเนิดขึ้นมา อาโรน (นั่นคือข้อเรียกร้องของพระสงฆ์) ตรงเข้ามาบอกนางว่า ลูกแกะหัวปีต้องเป็นของเรา  นางก็ยอมให้ลูกแกะตัวแรกไป  เมื่อถึงเวลาตัดขนแกะ อาโรน กลับมาบอกว่า ท่านจะต้องให้ผลิตผลแรกจากข้าวสาลี เหล้าองุ่นใหม่และน้ำมันมะกอก รวมทั้งขนแกะแก่สมณะ (ฉธบ 18:4)  นางสุดทนจึงคิดจะฆ่าแกะกิน แต่อาโรนก็ตามนางไม่เลิก สมณะจะมีสิทธิ์รับขาหน้า เนื้อแก้ม และเนื้อท้อง (ฉธบ 18:3) นางจึงพูดกับบุตรสาวว่า ถึงเราจะฆ่าแกะก็ยังไม่รอดพ้นจากเงื้อมมือของพวกเขาอยู่ดี  อย่ากระนั้นเลย ให้เราถวายแกะเหล่านี้แด่พระเจ้าเถิด
       เหลือเชื่อ  อาโรนพูดกับนางว่า ของทุกอย่างที่ชาวอิสราเอลถวายขาดแด่พระยาห์เวห์จะเป็นของฉัน (กดว 18:14) แล้วก็ฉวยแกะไปทั้งหมด ปล่อยให้นางร้องไห้อยู่กับบุตรสาวทั้งสอง
       แม้เป็นเพียงนิทานเปรียบเทียบ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าธรรมบัญญัติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ทุกแง่ทุกมุมและไม่รู้จักหยุดจักหย่อนเลย
       ช่างเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์จริง ๆ !
       สำหรับผู้ที่เผชิญกับภาระหนักเช่นนี้ พระองค์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักจงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน (มธ 11:28)
       พร้อมกันนี้ ทรงเชิญชวนทุกคนว่า จงรับแอกของเราแบกไว้ เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่ม และภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา (มธ 11:29-30)
       ชาวยิวใช้คำว่า แอก เพื่อหมายถึง การยอมมอบตนต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น แอกของกฎหมายหมายถึงการยอมมอบตนปฏิบัติตามกฎหมาย แอกของอาณาจักรสวรรค์หมายถึงการยอมมอบตนต่อข้อเรียกร้องของอาณาจักรสวรรค์   แอกของพระเจ้าหมายถึงการอุทิศตนมอบถวายแด่พระเจ้า เป็นต้น
       แอกของพระเยซูเจ้าจึงหมายถึง การยอมมอบตนเป็นศิษย์ของพระองค์
ที่สำคัญแอกของพระองค์น่าแบกเพราะว่า อ่อนนุ่ม !
       คำ อ่อนนุ่ม ตรงกับภาษากรีก chrēstos (เครสตอส) ซึ่งหมายถึง เหมาะพอดี (being well adapted to fulfill a purpose)
       ในปาเลสไตน์ ชาวยิวทำแอกเฉพาะอันให้วัวแต่ละตัว  พวกเขานำวัวไปให้ช่างวัดขนาด  เมื่อช่างทำแอกเสร็จ พวกเขาจะนำวัวกลับไปลองแอกและปรับแต่งให้เหมาะพอดีกับคอวัวเพื่อจะได้ไม่เกิดแผลเวลาใส่
       หมายความว่า หากเราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า พระองค์จะประทานแอกที่ไม่ทำร้ายเรา เพราะมันเหมาะพอดีกับความจำเป็นและความสามารถของเราแต่ละคน
       และเมื่อตรัสว่า ภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา (มธ 11:30) พระองค์มิได้หมายความว่าภาระของพระองค์แบกได้ง่ายหรือสบาย แต่หมายความว่าพระองค์ทรงประทานภาระแก่เราด้วย ความรัก ซึ่งจะทำให้ภาระที่หนักที่สุดกลายเป็น เบา
       มีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งพบเด็กเล็กๆ คนหนึ่งกำลังแบกเด็กพิการที่เล็กกว่าอีกไว้บนหลัง  ชายผู้นั้นกล่าวว่า ภาระนั่นไม่หนักไปหน่อยหรือ พ่อหนุ่ม ? เด็กคนนั้นตอบว่า นี่ไม่ใช่ภาระ นี่เป็นพี่น้องตัวจิ๋วของผม
       เมื่อเรารู้ซึ้งถึง ความรักของพระเจ้า และรู้ว่าภาระที่พระองค์ทรงมอบแก่เราคือ รักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์
       ภาระอะไรๆ ก็เบาไปหมด !
ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกท่าน
คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง
(บทความคัดลอกจากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น